นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ในประเด็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้นรายย่อย ให้สามารถใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นได้อย่างแท้จริง เช่น การขอตรวจทะเบียนกรรมการ หรือรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น, การให้ผู้ถือหุ้นที่มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมพิจารณาวาระอื่น นอกเหนือจากวาระที่กำหนดในการประชุมได้, กรณีการรับโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่กระทบต่อกิจการของบริษัท จะกระทำได้เมื่อผู้ถือหุ้นมีมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการให้มีความโปร่งใส โดยใช้หลักธรรมาภิบาล เช่น กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติการเลือกตั้ง, วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ 3 ปีจากเดิมที่ไม่กำหนดเวลา แต่สามารถกลับมาเป็นกรรมการได้อีกรอบ, กรรมการสามารถนัดประชุมติดต่อผ่านระบบสื่อสารเทคโนโลยีได้โดยไม่ต้องปรากฏตัวในที่ประชุม, กรรมการอาจตั้งกรรมสำรองเพื่อเข้าประชุมแทนได้, ห้ามกรรมการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียเป็นพิเศษ
การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น ปรับปรุงบทบัญญัติโดยยกเลิกการห้ามไม่ให้บริษัทเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วนไม่จำกัด, ปรับปรุงบทบัญญัติให้หุ้นบุริมสิทธิ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามมติที่ประชุม, เพิ่มหลักเกณฑ์ไม่ให้มีการถือหุ้นไขว้ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก, กำหนดให้บริษัทแม่ไม่สามารถนำหุ้นที่ถือโดยบริษัทลูก มานับเป็นองค์ประชุมและออกเสียงลงคะแนนได้
รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการควบบริษัท โดยเพิ่มหลักเกณฑ์ในการผนวกบริษัท จากเดิมที่การควบบริษัท ก.กับ ข.กลายเป็นบริษัท ค. แต่การผนวกบริษัทนั้น บริษัท ก.หรือบริษัท ข.อาจยังอยู่ก็ได้ ซึ่งจะเพิ่มความคล่องตัวให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังกำหนดเพิ่มเติมบทบัญญัติในการแปรสภาพบริษัทมหาชนจำกัด เป็นบริษัทเอกชนได้ ส่วนการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องอัตราบทลงโทษให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น เดิมบริษัทมหาชนจำกัดต้องมีการตรวจสอบบัญชีหากไม่ดำเนินการจะถูกปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และปรับรายวันอีกวันละ 2 พันบาท แก้ไขเป็นปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฎหมายฉบับนี้คงเสร็จไม่ทันบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องยุติการพิจารณากฎหมายต่างๆ 1 สัปดาห์ก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้