รมว.พลังงาน แจงผู้ผลิต-จำหน่ายโซลาร์เซลล์ พร้อมเข้าแข่งขันหลังรัฐหนุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์กว่า 1.27 หมื่นMW ใน 20 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 13, 2019 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เชิญผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์กว่า 30 รายเข้าพบในวันนี้ เพื่อให้เตรียมพร้อมเข้าแข่งขันในตลาด หลังรัฐบาลมีแผนสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) รวม 12,275 เมกะวัตต์ (MW) ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งจะมาจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และโซลาร์ลอยน้ำ ในเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์ โดยเตรียมนำร่องเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์แรกในปีนี้

"ตลาดการแข่งขันในธุรกิจจะใหญ่ขึ้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเงินลงทุนและบุคลากรการติดตั้งแผง นอกจากนี้รัฐบาลก็ขอเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เพราะปัจจุบันราคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถูกกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วอยู่มาก จากราคา 1 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ปัจจุบันเหลือเพียง 6 แสนบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมครั้งนี้ก็จะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เป็นพลังงานหลักในอนาคต และยังเป็นการเตรียมความพร้อมการทำเทรดดิ้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในอนาคตหากมีการผลิตในปริมาณมาก"นายศิริ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนั้น เบื้องต้นรัฐบาลจะเปิดรับซื้อประมาณ 100 เมกะวัตต์/ปี เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งจะเปิดรับซื้อนำร่อง 100 เมกะวัตต์แรกในปีนี้ โดยในวันที่ 20 มี.ค. นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะประกาศรายละเอียดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ระยะที่ 1 นำร่อง 100 เมกะวัตต์ โดยจะให้ประชาชน ชุมชน ภาคครัวเรือน หรือ ผู้ประกอบการที่ร่วมมือกับชุมชนดำเนินการ และแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกัน เข้าร่วมได้ ซึ่งจะเป็นโครงการที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ตามแผนการประกาศรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 100 เมกะวัตต์นั้น กกพ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 มี.ค.-1 เม.ย.62 และภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.62 จะจัดประชาสัมพันธ์ชี้แจงการเข้าร่วมโครงการ , การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการ ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 62 , การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา ช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.62 , ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในเดือนต.ค.62 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในปี 62

ทั้งนี้ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้า จะแบ่งเป็นโควตาของการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 70 เมกะวัตต์ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.08 บาท/หน่วยในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมโครงการคือ ภาคครัวเรือน ซึ่งหลักเกณฑ์เบื้องต้นประกอบด้วย 1.ผู้ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า ประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย) 2.มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 10 KWp ต่อมิเตอร์ 3.การไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี 4.ยอดรวมทั้งโครงการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และ 5. COD ภายในปี 62

ขณะที่นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 กฟผ. จะเริ่มโครงการนำร่อง Hydro Floating Solar Hybrid ที่เขื่อนสิริธร ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยมีแผนเปิดดำเนินงาน ภายในธ.ค.63 ในพื้นที่โครงการวม 760 ไร่ เป็นพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 45 ไร่ สำหรับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ไม่รวมส่วนยึดโยงต่าง ๆ โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเบื้องต้น ซึ่งส่วนประกอบสำคัญได้แก่ (1) Double Glass Type PV Panel (2) HDPE Pontoon (3) ระบบยึดโยงที่รองรับระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างมา โดยใช้แบบ Bottom Anchoring ที้งนี้ กฟผ. มีแผนการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างในเดือนพ.ค.62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ