ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)อาจจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 29-30 มกราคม 2551 แม้ว่าเพิ่งจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 4.25 มาที่ร้อยละ 3.50 ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551
เนื่องจากหากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจประสบกับภาวะถดถอย และปัญหาการขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหรัฐฯ ตลอดจนความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังจำกัดในขณะนี้ เฟดอาจยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินและผู้บริโภคสหรัฐฯว่าเฟดพร้อมจะดำเนินการทุกวิถีทางตามความจำเป็นเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บริโภคสหรัฐฯให้กลับคืนมา อีกทั้งยังเป็นการแสดงจุดยืนที่แน่วแน่ว่าเฟดพร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางตามความจำเป็นเพื่อดูแลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยมองว่าน่าจะเป็นการดำเนินการที่เกิดความเสี่ยงน้อยกว่ากรณีที่เฟดเลือกที่จะรอจนกว่าจะถึงการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 18 มีนาคม หรือเลือกดำเนินการก่อนหน้านั้น (inter-meeting)
เนื่องจากหากเฟดเลือกที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมรอบนี้ ก็อาจสร้างความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด เพราะตลาดอาจกังขาหรือวิพากษ์วิจารณ์ว่าเฟดมีมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในเชิงบวกที่มากเกินไปหรือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ล่าช้าและน้อยเกินไป หากปรากฏว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจที่จะทยอยรายงานออกมายังมีแนวโน้มย่ำแย่อยู่ในระยะถัดๆ ไป
ขณะที่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯก็อาจจะยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีกในระยะถัดๆ ไป โดยจะขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของเฟด ตลอดจนการเลือกจังหวะในการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายซึ่งเฟดเห็นว่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ทั้งในการประชุมนอกหรือตามกำหนดการ
สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า หรือ Interest rate futures ล่าสุด ณ วันที่ 25 มกราคม 2551 บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ด้วยความเป็นไปได้ประมาณร้อยละ 70 ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 3.50 มาที่ร้อยละ 3.00 ในการประชุมวันที่ 29-30 มกราคม 2551 นี้ แม้ว่าความเป็นไปได้ของการคาดการณ์ดังกล่าวจะลดลงเมื่อเทียบกับที่ตลาดมองด้วยโอกาสเกือบเต็มที่ (ใกล้ร้อยละ 100) หลังเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงฉุกเฉินในวันที่ 22 มกราคมก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุถึงผลกระทบต่อไทยว่า หากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่อาจลดลงมาเหลือศูนย์หรือมีค่าติดลบ จากเดิมที่มีค่าเป็นบวกร้อยละ 0.25 (อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.50 สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันของไทยที่อยู่ที่ร้อยละ 3.25) ตลอดจนแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ คงจะเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินของไทย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.คงจะให้น้ำหนักต่อการรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคงจะยังติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ ตลอดจนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน เพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--