นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือน ม.ค.62 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 5,734.47 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 74.60% ลดลง 2.08% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ
"การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของไทยในช่วงเดือน ม.ค.62 ที่มีอัตราลดลง 5.65% โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากผลกระทบของสงครามการค้า การผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของหลายประเทศ"
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ฯ แยกเป็น การใช้สิทธิภายใต้ FTA ปัจจุบันที่มี 12 ฉบับ และกำลังมีฉบับที่ 13 คือ ความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 76.58% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง ลดลง 2.82% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 2,052.36 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 1,243.63 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 705.25 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 642.29 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 354.91 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด คือ เปรู ขยายตัว 90.43% รองลงมาคือ เกาหลี ขยายตัว 18.88% และอินเดีย ขยายตัว 12.66% ซึ่งทั้ง 3 ตลาดนอกจากจะขยายตัวสูงแล้วยังมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน
ขณะที่สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (114.74%) 2) ไทย-ชิลี (101.20%) 3) ไทย-ญี่ปุ่น (99.37%) 4) อาเซียน-เกาหลี (94.11%) และ 5) อาเซียน-จีน (90.18%) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ข้าว และกุ้งอื่นๆ แช่แข็ง
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลง FTA ในส่วนของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand: AANZFTA) คือ การปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSR) จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2012 (HS.2012) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นฉบับปี 2017 (HS.2017) ซึ่งมีจำนวนสินค้ากว่า 5,000 รายการ โดยผลจากการปรับโอนพิกัดฯ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรส่งออกไปยังประเทศสมาชิก AANZFTA ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะต้องขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AANZ และขอตรวจรับรองคุณสมบัติถิ่นกำเนิดด้วยพิกัดฯ HS.2017 ซึ่งประเทศไทยโดยกรมการค้าต่างประเทศได้เตรียมความพร้อมที่จะออกฟอร์ม AANZ โดยใช้พิกัดฯ HS. 2017 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.62 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยน Form AANZ รูปแบบใหม่ในการส่งออกไปอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียเพิ่งได้ดำเนินการทางกฎหมายภายในประเทศเพื่อบังคับใช้ Form AANZ รูปแบบใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกภายใต้ AANZFTA ประเทศสุดท้ายที่จะเริ่มบังคับใช้ Form ดังกล่าว โดย Form รูปแบบใหม่จะไม่มีการระบุราคาสินค้า (FOB value) ยกเว้นกรณีสินค้าใช้เกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดแบบสัดส่วนมูลค่าการผลิตในภูมิภาค (RVC) เท่านั้น ทั้งนี้ กรมฯ จะเริ่มออกหนังสือรับรองฯ Form AANZ รูปแบบใหม่สำหรับส่งออกไปยังอินโดนีเซียภายใต้ความตกลง AANZFTA ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.62 เป็นต้นไป
ส่วน Form AANZ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้ประโยชน์เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกไปยังอาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกเหนือจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจมาใช้ประโยชน์ความตกลง AANZFTA เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดในปี 2561 พบการขอใช้สิทธิฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่า 88% โดยเป็นการขอใช้สิทธิฯ ส่งออกรถกระบะสูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ กว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 45.26% ของมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ ทั้งหมด เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตของรถรุ่นใหม่ด้วยการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศนอกภาคี จึงหันมาใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง AANZFTA ที่มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความเข้มงวดน้อยกว่าความตกลง TAFTA และกระบวนการผลิตสินค้าสอดคล้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถขอใช้สิทธิฯ ลดหย่อน/ยกเว้นภาษีได้
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การใช้สิทธิ GSP ที่ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐ เอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในเดือน ม.ค.62 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 55.86% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 8.62% โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 96% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 396.59 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 64.24% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 617.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.45% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่นๆ และเลนส์แว่นตา
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมฯ ได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ 9% หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวไปในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่คาดว่าจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยให้เติบโต