(เพิ่มเติม1) บอร์ด BOI อนุมัติส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า PHEV กว่า 3 พันลบ./ส่งเสริมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 15, 2019 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) แก่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในจังหวัดชลบุรี วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,130 ล้านบาท

"โครงการนี้ จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า" เลขาธิการบีโอไอระบุ

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 51,550 ล้านบาท แบ่งเป็น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicles - PHEV) 4 โครงการ, กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles - HEV) 4 โครงการ และกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles - BEV) 1 โครงการ ส่วนกิจการแบตเตอรี่ อนุมัติ 10 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 6,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ ประกอบด้วย กิจการแบตเตอรี่ มูลค่าลงทุน 1,400 ล้านบาท และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่าลงทุนประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท

"แนวโน้มกิจการในอนาคต ส่วนใหญ่มุ่งไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนโยบายของบีโอไอ มีทิศทางที่ต้องการให้มีการเพิ่มผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มากขึ้น" น.ส.ดวงใจระบุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของสัมปทาน ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (รวมกันไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

ทั้งนี้ รฟม.จะต้องระบุสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไว้ในประกาศเชิญชวน (TOR) อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประมูลทุกรายทราบโดยทั่วกัน

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จ.สงขลา) เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาและการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค ให้เป็นแหล่งรองรับและเสริมสร้างการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับกิจการใดที่เป็นกิจการเป้าหมายในพื้นที่ EEC แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ได้ โดยจะต้องยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการ EEC ภายในวันที่ 30 ธ.ค.62 และย้ายไปตั้งอยู่ในเขต EECi ภายในวันที่ 30 ธ.ค.65 ซึ่งนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทแล้ว ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ถึง 4 ปี และบางกิจการจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปีเพิ่มเติมอีกด้วย

โดยกิจการเป้าหมายที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมดังกล่าวได้ เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัมนา เทคโนโลยีชีวภาพ บริการออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน สถานฝึกฝนวิชาชีพ กิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เป็นต้น

"ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ดังนั้นการกำหนดพื้นที่เพิ่มเติมในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยทำให้นักลงทุนมีทางเลือกเพิ่มเติม ยังจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภูมิภาค มีโอกาสในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นได้ต่อไปในอนาคต" น.ส.ดวงใจกล่าว

เลขาธิการบีโอไอ ยังมองถึงทิศทางการลงทุนหลังการเลือกตั้งว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในทุกโครงการ ซึ่งมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ และสงครามการค้ายังมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งไทยมีความพร้อมที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่ดีได้

ส่วนเป้าหมายการส่งเสริมลงทุนในปี 62 บีโอไอตั้งเป้าไว้ที่ 7.5 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ