ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะข้างหน้า การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังมีทิศทางผันผวนจากปัจจัยการเมืองในประเทศสหรัฐฯ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ตลอดจนประเด็น Brexit ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทมีความผันผวนตามไปด้วย
ขณะที่ คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 19-20 มีนาคม 2562 จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25-2.50% เนื่องจากสถานการณ์ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ชะลอลง ส่งผลให้เฟดจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง ครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งหมายถึงการทิ้งจังหวะเวลายาวขึ้นในการคงอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นความชัดเจนของข้อมูลภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ
"สถานการณ์ความเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง คงส่งผลให้โอกาสที่เฟดทิ้งจังหวะการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปคู่ค้าอันดับที่ 1 และจีน คู่ค้าอันดับที่ 2 ของสหรัฐฯ ที่เป็นผลจากปัจจัยการเมืองยังคงไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและจีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงค่อนข้างมาก ท่ามกลางแรงกดดันที่เป็นผลจากปัจจัยด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การเจรจา Brexit ที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ อันอาจจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้ว รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กดดันให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยดังกล่าวคงจะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในวงกว้างอันจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ทั้งนี้ เฟดน่าจะรอความชัดเจนของพัฒนาการความเสี่ยงดังกล่าว ก่อนที่จะมีการประเมินถึงความเหมาะสมต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป
ขณะที่พัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เฟดมีความระมัดระวังในการประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยยอดค้าปลีก และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ของสหรัฐฯ ที่การเติบโตชะลอลงในช่วงนี้ คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เฟดคงติดตามพัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยที่กดดันกิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากปัจจัยทางธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบจากการปิดตัวลงของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อันเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอลงในช่วงที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง คงเป็นปัจจัยที่น่าจะทำให้เฟดเลือกที่จะชะลอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปอีกระยะ เพื่อรอความชัดเจนของพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้ง ประเมินผลกระทบจากการส่งผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ลดแรงกดดันเฟดที่จะต้องเร่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ย โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมาย ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าคงจะมีจำกัดท่ามกลางปริมาณอุปทานในตลาดน้ำมันสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การส่งผ่านเงินเฟ้อจากการปรับขึ้นรายได้ค่อนข้างจำกัด แม้ว่าพัฒนาการของตลาดแรงงานจะค่อนข้างตึงตัวก็ตาม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังคงสนับสนุนให้เฟดสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาที่ยาวขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 5 ปีข้างหน้าที่เริ่มปรับลดลงอีกครั้งและทรงตัวที่ระดับประมาณ 1.8% อันต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2.0% คงเป็นปัจจัยที่เฟดน่าจะติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัญญาณดังกล่าวอาจจะสะท้อนถึงมุมมองของตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯ อาจจะผ่านพ้นระดับสูงสุดไปแล้ว