BAY หั่นประมาณการ GDP ปี 62 เหลือโต 3.8% จากเดิม 4.1% หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 15, 2019 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนคารปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ลดลงมาเป็นขยายตัว 3.8% จากเดิมที่คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 4.1% หลังจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัวลงจากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มาจากวัฏจักรของเศรษฐกิจโลกที่กลับมาเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวขึ้น

แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเริ่มเห็นการพักตัวเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ขยายตัว 3.5% จากเดิมที่ 3.7% สะท้อนภาพว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นอัตราชะลอลง ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการค้าของโลกให้ชะลอตัวตาม กระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ BAY มองว่าการส่งออกจะชะลอตัวในปีนี้ โดยปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขส่งออกไทยในปี 62 ลงมาอยู่ที่ขยายตัว 3.7% จากเดิม 4.5%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะมาจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เป็นตัวกระตุ้น รวมไปถึงการบริโภคภายในประเทศที่ยังช่วยหนุน โดยคาดว่าจะดีขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้ง และหลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงานแล้วเชื่อว่าจะมีการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นให้ฟื้นตัวขึ้น ผ่านการทำแคมเปญต่างๆ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงปลายของปีงบประมาณหรือช่วงต้นของปีงบประมาณ 63 ทำให้มีเงินออกมาหมุนเวียนในระบบ

อีกทั้งหลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว จะทำให้ความไม่แน่นอนในประเทศหายไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะยังคงมองประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นๆในกลุ่ม CLMV ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 62 คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 1 ครั้งอัตรา 0.25% เป็น 2% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 1.75% ต่อปี ดังนั้น สัปดาห์หน้าต้องติดตามการประชุม กนง.ว่าคะแนนเสียงจะออกมาเป็นอย่างไร และแถลงการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพราะจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไป

BAY มองว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก เพราะอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเริ่มเข้าใกล้กรอบล่างของ กนง.ที่ 1% จากกรอบใหญ่ 1-4% และหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังอาจล่าช้าเกินไป เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนี่อง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับ 2% ยังคงเป็นระดับที่ยังช่วยสามารถผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัว และในส่วนของผู้ประกอบการนั้นควรพิจารณาถึงจังหวะความเหมาะสมในการลงทุนอย่างระมัดระวัง และในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินต่ำ มองว่าเป็นจังหวะที่ควรเริ่มทยอยลงทุน เพราะเป็นช่วงที่การลงทุนมีต้นทุนที่ถูก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ