นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อาเซียนเตรียมขยายบริการเว็บไซต์แอสซิส (ASSIST) ที่ได้เปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเดิมเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ปัญหา อุปสรรคที่เกิดจากกฎระเบียบของภาครัฐ เฉพาะในด้านการค้าสินค้าเท่านั้น โดยจะให้ครอบคลุมการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาอุปสรรคด้านการค้าบริการด้วย ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562
นางอรมน กล่าวว่า โครงการแอสซิส เป็นโครงการที่อาเซียนได้รับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และตอบสนองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และความโปร่งใสของกฎระเบียบต่างๆ โดยเป็นการให้บริการรับข้อร้องเรียน ปัญหา อุปสรรคทางการค้าสินค้า จากภาคเอกชนซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านทางเว็บไซต์แอสซิส https://assist.asean.org/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเว็บไซต์แอสซิสมีการวางระบบที่มีขั้นตอนชัดเจน และกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการประมาณ 40 – 60 วัน เพื่อให้ภาคเอกชนมั่นใจว่าข้อร้องเรียนต่างๆ จะได้รับการตอบสนองในระยะเวลาอันเหมาะสม
เว็บไซต์แอสซิสโฉมใหม่ ยังมีการปรับปรุงให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ปรับปรุงให้การยื่นข้อร้องเรียนไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนของผู้ร้องเรียน จัดทำคู่มือขั้นตอนและวิธีการใช้เว็บไซต์เป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ขอบเขตการให้บริการของเว็บไซต์แอสซิส จะครอบคลุมบริการ 11 สาขา เช่น การขนส่ง ท่องเที่ยว การศึกษา โทรคมนาคม สุขภาพ การจัดจำหน่าย เป็นต้น นอกจากนี้ อาเซียนยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายขอบเขตการให้บริการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชน ในด้านปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากกฎระเบียบด้านการลงทุนด้วย เพื่อให้บริการรับเรื่องร้องเรียนแบบครบวงจร ทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ รวมทั้งไทยจะจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับระบบ และเตรียมความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนสำหรับการเปิดบริการใหม่ในครั้งนี้ด้วย
"เป็นความตั้งใจของอาเซียน ที่ดูแลและตอบสนองข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาอุปสรรคจากกฎระเบียบทางการค้าของอาเซียน เข้ามาใช้บริการเว็บไซด์แอสซิสในการแก้ไขปัญหา ซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น" นางอรมน กล่าว