ก.เกษตรฯ แจงลดเงินประมูลโครงการสถานีสูบน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย ต่ำกว่างบฯถึง 1.4 พันล้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 17, 2019 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานผลการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อดำเนินการประกวดราคางานจ้างก่อสร้างสถานีสูบน้ำและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย เพื่อให้คณะรัฐมนตรี ( 15 มี.ค.) รับทราบ

กรมชลประทาน ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งานดังกล่าว โดยกำหนดระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2563 วงเงินภาระผูกพันทั้งสิ้น จำนวน 3,477.2 ล้านบาท ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จำนวน 332.3 ล้านบาท ผูกพันงบปี 2561 จำนวน 993.5 ล้านบาท ผูกพันปี 2562 จำนวน 993.5 ล้านบาท และผูกพันปี 2563 จำนวน 662.3 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด จำนวน 165.6 ล้านบาท

ต่อมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการประกวดราคาฯ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ วงเงินงบประมาณ 3,311,616,000 บาท คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้คำนวณราคากลาง เป็นเงิน 2,963,124,085.10 บาท ได้ผลการประกวดราคาโดย บริษัท พระราม 2 การโยธา จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในราคาค่าก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 1,895,888,000 บาท โดยลดงบประมาณได้ถึง 1,415,758,000 บาท

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ได้เห็นชอบให้เบิกจ่ายจากงบประมาณ ปี 2562 จำนวน 230,000,000 บาท ที่ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายรองรับไว้แล้ว ส่วนที่เหลือจำนวน 1,665,888,000 บาท ผูกพันงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2565 ซึ่งรายการดังกล่าวอยู่ในวงเงินงบประมาณ แต่มีระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเกินกว่าที่ ครม. อนุมัติไว้ และครม. ได้อนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณจากปี พ.ศ. 2560-2563 เป็น ปี พ.ศ. 2560 - 2565

โครงการฯ ดังกล่าว เป็นโครงการขนาดใหญ่ 1 ใน 9 แห่งที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำระดับชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เป็นรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

สำหรับ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จ. หนองคาย และ จ.อุดรธานี ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี ส่วนในหน้าแล้ง ก็จะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ

ในส่วนลักษณะโครงการฯ ประกอบด้วย 1. สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง จะทำหน้าที่สูบน้ำจากลำน้ำห้วยหลวง ที่เกินระดับควบคุมของประตูระบายน้ำ เพื่อระบายสู่น้ำโขง มีอัตราการสูบ สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 18,000 ไร่ 2. พนังกั้นน้ำช่วงตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ป้องกันผลกระทบช่วงน้ำหลาก ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 19,015 ไร่

3. อาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จำนวน 15 แห่ง รับน้ำช่วงน้ำหลากเพื่อระบายสู่น้ำโขง ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 17,375 ไร่ 4. ระบบชลประทานของโครงข่ายหัวงาน จำนวน 13 โครงข่าย ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 18 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 315,195 ไร่ รวมเป็นการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 300,195 ไร่ คลอบคลุม 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด 284 หมู่บ้าน 29,835 ครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ