ธปท.ยึดนโยบายการเงินยืดหยุ่น-ใช้นโยบายคลังร่วมดูแลศก.เผชิญความท้าทายปี 51

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2008 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้นโยบายการเงินที่ยึดความยืนหยุ่นในการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0-3.5% และสนับสนุนรัฐบาลใหม่ใช้นโยบายการคลังร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก โดยเฉพาะปัญหาซับไพร์ม และการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ยืนยันว่าเงินบาทแม้แข็งค่าแต่ยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มเงินภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ยังไม่เหม สมที่จะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% 
นางธาริษา กล่าวว่า ในภาวะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ธปท.จะยังคงยึดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตราบเท่าที่ยังไม่เกิดแรงกดดันด้านราคาจนเงินเฟ้ออาจจะสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด ภายใต้กรอบนโยบาย Inflation Targeting
"ธปท.โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมและยืดหยุ่นอย่างพอเพียงในการรับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ"นางธาริษา กล่าวในการแถลงนโยบายประจำปี 51
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 51 เห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับคืนมา ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชนซึ่งดีขึ้นหลังจากที่การเมืองเริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐยังได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 51 มีแรงขับเคลื่อนที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในเกณฑ์ที่ได้เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 4.5 ถึง 6 ทั้งนี้ พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระดับหนึ่ง ทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและความผันผวนทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศมาได้
นางธาริษา กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐยังไม่นิ่ง การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐและการใช้มาตรการภาษีจะช่วยแก้ยับยั้งความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจได้อย่างไรยังไม่ชัดเจน หากสมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยลง ก็จะทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ถูกลง รวมทั้งมีมีปัจจัยเสริม คือ อุปสงค์ภายในประเทศของไทยจะฟื้นตัวทันหรือไม่ เงินเฟ้อจะมีผลมากแค่ไหน
ผู้ว่าธปท.เห็นด้วยกับการใช้นโยบายการคลังมาดูแลเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ขณะที่ความเสี่ยงจากนอกประเทศมีมากขึ้น นโยบายการเงินทำได้เพียงระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายเหมือนกับ 2 ปีก่อนที่ดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาลง หากจะใช้นโยบายการคลังก็จะมีผลกระทบน้อยกว่า เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ และช่วยกระตุ้นการลงทุนได้ หากสัญญาณที่ชัดเจนให้เอกชนรับลูกต่อ โดยมีรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในโครงการที่สร้างประโยชน์ระยะยาว
*ความท้าทายของธปท.ในปี 51
นางธาริษา กล่าวว่า ขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยทำให้ปี 51 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับธปท.ในหลายด้าน ได้แก่ ประเด็นแรก จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร ภายใต้ภาวะน้ำมันแพง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งธปท.ยืนยันที่จะยึดกรอบนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ประเด็นที่ 2 การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถตั้งเป้าไว้ว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐควรจะอยู่ที่ระดับใด แต่จะพิจารณาเทียบกับค่าเงินของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย จะดูได้จากดัชนีค่าเงินบาท(NEER) และ ค่าเงินบาทที่แท้จริง(REER) ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยเงินเฟ้อ การดูแลในลักษณะนี้ทำให้เงินบาทมีมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้โดยไม่ผืนกระแสตลาด และป็นไปวนทิศทางเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาค
นอกจากจะดูแลให้บาทแข่งขันได้แล้ว ธปท.ยังดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป โดยเฉพาะหากมีสาเหตุจากเงินทุนไหลเข้าออกระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร ซึ่งขณะนี้ไม่พบว่ามีเงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไหลโยกลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในลักษณะเก็งกำไรค่าเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากมีการดูแลบัญชีของนักลงทุนต่างประเทศอย่างเข้มงวด
ขณะที่ธปท.ยังสนับสนุนการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันต่อค่าเงิน และสนับสนุนให้นักลงทุนมีช่องทางที่จะออกไปหาประโยชน์เพื่อเพิ่มดอกผล และบริหารความเสี่ยง โดยขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างการหารือและทำงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เพื่อพิจารณาขยายวงเงิน และเพิ่มช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้มากขึ้น
ส่วนข้อเสนอที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ทุกคนมีความปรารถนาดีอย่างเต็มที่ต่อเศรษฐกิจไทย อยากให้เติบโตไปได้ ไม่ว่ารัฐมนตรีคลัง กระทรวงการคลัง หรือธปท.มีความปรารถนาเหมือนกัน ดังนั้นจำเป็นต้องหันหน้ามาปรึกษาหรือเอาข้อมูลมาดูกัน ภายใต้ปัจจัยที่เราคาดคะเน และหาแพคเกจนโยบายที่ดีที่สุดมาใช้
สำหรับความท้าทายประเด็นสุดท้าย คือ นโยบายการรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ธปท. ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน จากการกำกับฯด้านการเงินมาเป็นการกำกับฯด้านความเสี่ยงมาระยะหนึ่งแล้ว และจะผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งได้ทยอยออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้สถาบันการเงินเพิ่มความรัดกุมในการบริหารความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน
ปัจจุบัน ธปท. อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในครึ่งหลังของปี 2551 แผนพัฒนานี้มุ่งที่จะแก้ไขกฎระเบียบที่ยังอาจเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ