ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ 2 ของปี 2562 ในวันที่ 20 มีนาคม 2562 จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงให้น้ำหนักการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ (data dependent)
ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพ น่าจะถูกจัดการโดยเครื่องมือเฉพาะจุด (Macro Prudential) ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีโอกาสที่จะพิจารณาคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% จนถึงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย
ปัจจัยที่น่าสนใจที่คงจะมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ประกอบด้วย ทิศทางของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ยังคงสนับสนุนน้ำหนักในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การชะลอลงของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของสงครามการค้าส่งผลให้การส่งออกไทยหดตัวติดต่อกัน 3 เดือนและมีแนวโน้มที่จะยังคงหดตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 อีกทั้งแรงส่งจากภาคการคลังและการลงทุนในช่วงที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนผ่านยังคงค่อนข้างจำกัด ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเติบโตชะลอลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงทรงตัวในระดับต่ำ โดยพัฒนาการของเงินเฟ้อของไทยช่วง 2 เดือนแรกของปียังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่ากรอบล่างของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย ทำให้ความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งแรกของปีนี้ยังมีไม่มาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอันคงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย ขณะที่เครื่องมือเฉพาะจุด (Macro Prudential) อาทิ มาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน น่าจะช่วยดูแลความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
มองไปข้างหน้า พัฒนาการทางการเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้งและปัจจัยข้อพิพาททางการค้าคงจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อน้ำหนักในการพิจารณาทางเลือกของการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมของไทยในระยะต่อไป
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าประเด็นทางด้านการเมืองหลังการเลือกตั้งและประเด็นข้อพิพาททางการค้า คงเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงจับตาอย่างใกล้ชิด
ทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจ รวมทั้ง เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่คงจะเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยหากการเลือกตั้งนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะส่งผลให้แรงส่งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งหนุนให้การลงทุนที่มีการชะลอลงบางส่วนในช่วงก่อนเลือกตั้งทยอยฟื้นตัวขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะเปิดโอกาสให้ กนง. สามารถที่จะส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี หากผลของการเลือกตั้งนำมาสู่ความเสี่ยงของการเมืองในประเทศที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลให้การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะงักงันได้ ทำให้ความจำเป็นต่อการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังคงมีอยู่ เพื่อช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางการค้า แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยแม้ว่าสัญญาณเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะช่วยจำกัดความเสี่ยงของภาคการค้าโลกไปได้ส่วนหนึ่ง แต่การคลี่คลายข้อพิพาท อันจะนำมาสู่การปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะได้ข้อยุติ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ เริ่มกระบวนการไต่สวนตามมาตรา 232 ในหมวดรถยนต์และชิ้นส่วน อันอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวคงเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศที่สำคัญที่ กนง. ให้น้ำหนักในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า