(เพิ่มเติม) กฟผ.เตรียมออก TOR โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร 45 MW มูลค่าราว 2 พันลบ.ใน 15 พ.ค.เปิดยื่นซองสิ้น ก.ค.รู้ผล ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2019 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมออกประกาศเชิญชวนเอกชน (TOR) เข้ามาลงทุนติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดราว 45 เมกะวัตต์ในวันที่ 15 พ.ค.62 ใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท โดยจะเปิดให้ยื่นซองประมูลสิ้นเดือน ก.ค.และน่าจะประกาศผู้ชนะภายในสิ้นเดือน ต.ค.62 คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในเดือน ม.ค.63 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทันตามแผนงานในเดือน ธ.ค.63

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ในสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี โดยให้นำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อดำเนินการโครงการนำร่องเขื่อนสิริธรนั้น จะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลักเพราะในอนาคตกฟผ.ยังมีโครงการต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินการให้ครบทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ก็จะเป็นตัวกระตุ้นผู้ประกอบการมาตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์ Double glass ซึ่งเป็นพรีเมียมเกรดในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงแผนนำร่องโครงการโซลาร์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธรใช้พื้นที่ผิวน้ำในการติดตั้ง 450 ไร่ ซึ่งเชื่อมโยงระบบพลังน้ำ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกับเขื่อน ได้แก่ หม้อแปลง สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการระเหยของน้ำ ช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบช่วงกลางคืนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พื้นที่ทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำที่ผิวน้ำ และเป็นจุดแลนมาร์คใหม่สำหรับการท่องเที่ยว

รายละเอียดโครงการเป็นการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำ และใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่วางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำ ซึ่งมีความชื้นสูงและยังมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า การพิจารณาคัดเลือกผู้เข้าดำเนินการดังกล่าวเบื้องต้นนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน มอบหมายให้คัดเลือกผู้ประกอบการในไทยเป็นลำดับแรก และอาจจะมีคะแนนพิเศษให้กับผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงสุด ซึ่งรายละเอียดจะมีการกำหนดออกมาพร้อมกับ TOR โดยเบื้องต้นพบว่ามีผู้ประกอบการในไทยที่ผลิตทุ่นลอยน้ำประมาณ 2-3 ราย ซึ่งรวมถึงในเครือบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ส่วนผู้ผลิตแผงโซลาร์ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับโซลาร์รูฟท็อป ส่วนผู้ผลิตแผงโซลาร์ Double glass ที่มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่วางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำนั้น อยู่ระหว่างการพัฒนายังไม่แล้วเสร็จ ประมาณ 3 ราย

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 16 เขื่อนในประเทศ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี โดยโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธรขนาด 45 เมกะวัตต์ นับเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์จะเป็นการเปิดประมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ลอยน้ำบนทุ่นลอยน้ำเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของกฟผ.เท่านั้น โดยไม่ได้เปิดให้ผู้ประกอบการดำเนินการเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบแต่อย่างใด สำหรับโครงการที่จะเปิดประมูลต่อไปเป็นโครงการที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ