นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศราฐกิจ กล่าวภายหลังการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐวิสาหกิจเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนการลงทุนต่างๆ ผ่านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมาก ซึ่งรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวสูง ผู้บริหารมีความสามารถสูง และสามารถเป็นอนาคตให้แก่ประเทศได้ "ถ้า 4 ปีที่ผ่านมา มันคือความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องมีจินตนาการว่าอยากให้ประเทศไปทางไหน เมื่อมีจินตนาการ หากมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ หน้าที่คุณ คือชี้นำการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราคิดว่าความคิดอ่านเราถูกต้อง และสามารถโน้มน้าวให้คนเดินตามเราได้ เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆ ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ที่จากเดิมจะเน้นแค่เรื่องการออมเงิน แต่ในช่วงหลังธนาคารออมสินได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย กลุ่มสตาร์ทอัพให้สามารถตั้งตัวได้ ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างโอกาสการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยให้มากขึ้น ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในยุคนี้มีหน้าที่ต้องร่วมกันปฏิรูปภาคเกษตร สร้าง smart farmer ในแต่ละชุมชน เพื่อให้เป็นต้นแบบเกษตรกรยุคใหม่ เป็นต้น "ผ่านมา 4 ปี ก็ยังจะมีคนบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไร อยากให้ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) แจกเอกสารให้ผู้สื่อข่าว แล้วก็แจกให้พรรคการเมืองดูด้วย ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง อย่ามาเสียเวลาออกนโยบายที่มีอยู่แล้ว เอาแค่สานต่อสิ่งที่ทำอยู่แล้วก็พอ" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่กังวลคือ ไม่ต้องการให้ยึดติดกับตัวบุคคล เพราะหากวันหนึ่งตนและ รมว.คลัง ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว ไม่อยากให้สิ่งที่รัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้ดำเนินการมาต้องหยุดหรือล้มเลิกไป เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย "ขอบคุณตลอด 4 ปี ที่ทำมาหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความยั่งยืน" รองนายกรัฐมนตรีระบุ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า จากที่แต่ละพรรคการเมือง ออกมาหาเสียงด้วยการชูนโยบายต่างๆ นั้น ทำให้ดูเหมือนว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วรัฐบาลชุดนี้ทำไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่เป็นกำลังในการสนับสนุนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการใน 3 นโยบายสำคัญ ที่เป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ 2.การลดความเหลื่อมล้ำ 3.การรักษาวินัยการเงินการคลัง รมว.คลัง กล่าวว่า ในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของกระทรวงการคลังที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการเลือกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จะช่วยเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศได้ ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานหลายปี รัฐบาลได้พยายามลดช่องว่างในส่วนนี้ด้วยการจัดทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และช่วยให้มีรายได้ในการพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวพ้นสู่เส้นความยากจน ส่วนการรักษาวินัยการเงินการคลังซึ่งถือเป็นอีกหน้าที่สำคัญนั้น
ในการออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ กระทรวงการคลังได้คำนึงถึงกรอบวินัยการเงินการคลัง และการดำเนินโครงการจะต้องมีผลตอบแทนกลับมาสู่เศรษฐกิจ ซึ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพในระดับ 4-5% ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่าอยู่ในกรอบที่วางไว้ "เราทำงานด้วยความรับผิดชอบ ไม่มั่ว ทุกโครงการที่ทำเราพิจารณาแล้ว ทั้ง สคร., สศค., สบน. เพื่อให้รู้ว่าทุกโครงการที่ทำมีผลตอบแทน ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินออกไป เพราะฉะนั้นที่เราทำมาทั้งหมด ก็เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นได้เต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ที่ 4% กว่าๆ ไปแล้ว" รมว.คลังระบุ