พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอว่า เดิมได้มีกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ แต่เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องหรือไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงบางประการ เช่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ กรณีการแก้ไขรายการใบอนุญาต หรือกรณีการโอนใบอนุญาต จึงจำเป็นต้องยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว
ประกอบกับการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทยยังมีปัญหาและเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงขึ้นใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมงของไทย
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ฉบับเดิมที่ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงบางประการ และไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมงของชาวประมงที่แท้จริง เช่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ การแก้ไขรายการในใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการประมง เป็นต้น จึงต้องปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
โดยกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้มอบอำนาจให้อธิบดีกรมประมงสามารถแก้ไขใบอนุญาตการทำประมงได้ใน 5 กรณี ได้แก่ 1. การแก้ไขให้สามารถนำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนเรือที่มีใบอนุญาตทำการประมงซึ่งจม หรือชำรุด ผุพังได้ 2. การแก้ไขใบอนุญาตให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงตามที่กรมประมงกำหนดได้ เช่น เปลี่ยนจากเครื่องมืออวนลากเป็นเครื่องมืออวนติดตา ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำน้อยกว่าเครื่องมือเดิม
3. เปลี่ยนพื้นที่ทำประมงได้ของเครื่องมือบางชนิดได้ เช่น การย้ายฝั่งทำการประมงจากอันดามันไปยังอ่าวไทย ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถจับได้อย่างยั่งยืนของแต่ละพื้นที่ด้วย 4. หากประสงค์หยุดทำประมงชั่วคราว สามารถโอนโควต้าสัตว์น้ำในลักษณะควบรวมปริมาณกับใบอนุญาตอื่นได้ โดยที่เรือยังสามารถมาขอใบอนุญาตในรอบปีการประมงต่อไปได้
และ 5. หากต้องการเลิกทำประมงให้สามารถควบรวมใบอนุญาตได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องนำเรือออกนอกระบบไปหนึ่งลำ ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่ชาวประมงจะได้ประโยชน์ เนื่องจากได้รับวันทำประมงเพิ่มขึ้น