กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 62 เหลือโต 3.8% จากเดิมคาด 4% ตามส่งออกที่ชะลอจากภาวะเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2019 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง. ได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 62 เหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4.0% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้ว่าจะชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่คาดการณ์ GDP ในปี 63 ว่าจะเติบโตได้ 3.9%

"ประมาณการเศรษฐกิจ ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ" เลขานุการ กนง.ระบุ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปีนี้คาดว่าอยู่ที่ระดับ 1.0% เช่นเดียวกับประมาณการครั้งก่อนหน้า แต่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ลงเหลือ 0.8% จากเดิมที่คาดไว้ 0.9% โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย ขณะที่คาดว่าในปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะอยู่ที่ 0.9%

ด้านการส่งออกสินค้าชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดย กนง.ได้ปรับลดมูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้เหลือโต 3.0% จากเดิมคาดโต 3.8% และคาดว่าในปี 63 การส่งออกจะเติบโตได้ 4.1% ส่วนมูลค่าการนำเข้าในปีนี้ ปรับลดลงเหลือ 3.1% จากเดิมคาดโต 3.8% และประเมินว่าปี 63 การนำเข้าจะเติบโตได้ 4.8% ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ระดับ 40.4 ล้านคน ส่วนปี 63 คาดว่าจะอยู่ที่ร 42 ล้านคน

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในปี 62 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้ครัวเรือน ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี

การใช้จ่ายภาครัฐปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยจะปรับลดลง มาจากปัจจัยด้านการส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาข้อมูล (Data Independent) ในการประชุมครั้งต่อครั้ง แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศ จากทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งจะติดตามความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ