(เพิ่มเติม) สมาคมค้าปลีกฯ ค้านรวบสัมปทานดิวตี้ฟรึ 4 สนามบินเป็นรายเดียว เสนอแยกเป็น 3 ส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2019 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แถลงคัดค้านกรณีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะเปิดประมูลหาผู้บริหารร้านปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นสัมปทานรายเดียว รวมทั้งประมูลหาผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ AOT เลื่อนการขายซองประมูลออกไปจากกำหนดวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62 แต่สมาคมฯ ยังยืนยันที่จะเรียกร้องให้ล้มการประมูลดังกล่าว เพราะเป็นการประมูลหาผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นการผูกขาด ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารแต่ละปีสูงถึง 62.8 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ สมาคมฯ มีข้อเสนอแนะให้แยกทีโออาร์ในส่วนของสิทธิบริหารร้านดิวตี้ฟรีออกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร้านดิวตี้ฟรีในสนามสุวรรณภูมิ ให้เป็นสัมปทานหลายรายการตามหมวดหมู่สินค้า 2) ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินภูเก็ตให้เป็นสัมปทานรายเดียว และ 3) ร้านดิวตี้ฟรึในสนามบินเชียงใหม่และหาดใหญ่รวมกันเป็น 1 ฉบับ

"ที่ผ่านมามีการประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามอู่ตะเภาพื้นที่ 600 ตารางเมตรยังมีผู้เข้าประมูลถึง 4 ราย ไม่เข้าใจว่านำทั้ง 4 สนามบินมารวมกันทำไม"นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การจัดสรรสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีหลายรายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยแบ่งตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) เพื่อให้ตรงกับหลักสากลและประโยชน์สูงสุด โดยร้านดิวตี้ฟรีในต่างประเทศให้ผลตอบแทนสูง 30-40% ต่างจากร้านดิวตี้ฟรีของไทยให้ผลตอบแทนเพียง 15-19%

ขณะที่การอ้างให้สัมปทานรายเดียวเพราะการกระจายตัวของผู้โดยสารมีความไม่แน่นอน นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าสามารถจัดให้กระจาย 2-3 จุดในสนามบิน มีทั้งเครื่องสำอาง กลุ่มไวน์ สุรา ยาสูบ รวมทั้งสินค้าหมวดแฟชั่น Luxury ที่ AOT สามารถวางแผนจัดสรรพื้นที่ได้

ที่ผ่านมา สนามบินในเอเชียก็มีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีจำนวนมากกว่า 1 ราย ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์มีจำนวน 10 , 10 , 7 และ 5 รายตามลำดับ และมีระยะเวลารับสัมปทานเพียง 5-7 ปี

สมาคมฯ ยังมีข้อเสนอแนะให้ตรวจสอบสัมปทานทั้งร้านดิวตึ้ฟรีและร้านค้าเชิงพาณิชย์ว่าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่ โดยให้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายภายใต้คณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ต้องการให้ AOT ใช้การประเมินสำหรับการประมูล 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ถ้าผ่านได้จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่ใช้ผลตอบแทนทางการเงินเป็นการตัดสินสุดท้าย รวมทั้ง AOT ควรจะเปิดเผยข้อมูลผู้โดยสารและยอดขายตามเชื้อชาติและหมวดหมู่สินค้า ดังเช่นสนามบินฮ่องกง อินชอนและชางงี เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยรายเดิมที่มีข้อมูลจะได้เปรียบกว่า นอกจากนี้ ควรจะมีระยะเวลาการทำแผนเข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 60-90 วัน จากทีโออาร์ที่ออกมาให้เวลาเพียง 30 วัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่

"ผลตอบแทนดิวตี้ฟรีควรให้สูง เพราะไทยเป็น Star ด้านการท่องเที่ยว เพราะดิวตี้ฟรีไม่ต้องสร้างตึก ลูกค้าไม่ต้องหา และมีกำลังซื้อก็สูง เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาคุ้มทุน 10 ปี ผมไม่รู้ว่า ทอท.ไปคิดแทนเอกชนทำไม. แค่ 5-7 ปีก็คุ้มทุนแล้ว... ใครจะได้ไม่ว่าแต่ขอให้ประเทศได้ประโยชน์"

นายวรวุฒิกล่าวว่า เท่าที่รู้มีต่างชาติหลายราย สนใจเข้าประมูลในไทย แต่รูปแบบถ้าเป็นอย่างนี้ หลายชาติเตรียมรวมตัวประท้วง และถ้าเขาฟ้องชื่อเสียงของประเทศไทยจะเสียหาย ไทยจะมีภาพทุจริตคอร์รัปชั่น และตนฝากถึงพรรคการเมืองว่าจะยอมให้การประมูลเป็นผูกขาดรายเดียว ถ้ารัฐบาลนี้ปล่อยให้เกิดการผูกขาด และรัฐบาลใหม่เมื่อเข้ามาทำงานจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

"ผมกลัวว่าหลังเลือกตั้งจะรวบรัด ฉะนั้นก่อนการเลือกตั้ง อยากให้ชัดเจน อยากฟังความเห็นทุกพรรคด้วย "ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าว

ส่วนการประมูลกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยไม่เห็นด้วยให้เปิดประมูล ไม่ต้องการให้มีคนกลางเข้ามากินหัวคิว โดย AOT สามารถบริการจัดการเองได้

สำหรับประเด็นที่ AOT ระบุว่า กิจการดิวตี้ฟรี และกิจการพื้นที่เชิงพาณิช ไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่อง ที่ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ให้การประกอบกิจการลานจอดรถยนต์ ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และสัญญาเช่าพื้นที่เป็นลักษณะให้บริการสาธารณะ จึงเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ. และพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2545

ฉะนั้นสมาคมฯมีมุมมองว่า พื้นที่ดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ น่าจะรวมถึงอาคารจอดรถผู้โดยสาร ต้องเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุนภาคัฐและเอกชน เพราะแม้แต่สนามบินขนาดเล็กในต่างประเทศ ยังต้องมีพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้นักท่องเที่ยวด้วย นอกจากนี้รายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical revenue) ของ AOT มีสัดส่วน 44% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งต่ำสุดในบรรดาสนามบินนานาติในเอเชีย อาทิ สนามบินฮาเนดะ มีสัดส่วนรายได้ Non-Aero ถึง 73% ประกอบองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุไว้ชัดเจนว่ารายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินเป็นปัจจัยหลักการบริหารการเงินของสนามบินให้อยู่รอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ