พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การเป็น Super Cluster อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ โครงการระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ประกอบด้วยสนามทดสอบยางล้อและเครื่องมือทดสอบตามมาตรฐาน ทดสอบรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุนของยางล้อ
โครงการระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ขณะนี้ได้ออกแบบและปรับพื้นที่เสร็จแล้วเพื่อรองรับการก่อสร้างสนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน รวม 5 สนาม คือ 1) สนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ (Long Distance and High Speed) 2) สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) 3) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake) 4) สนามทดสอบเชิงพลวัต (Dynamic Platform) และ 5) สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad)
ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตั้งบนพื้นที่ 1,235 ไร่ และจะเป็นกลไกสำคัญของประเทศไทยจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ ด้านช่างเทคนิคไม่น้อยกว่า 200 คน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกไม่น้อยกว่า 2,000 คน คิดเป็นรายได้ 500-1,000 ล้านบาทต่อปี เกิดการลงทุนธุรกิจการค้าและธุรกิจต่อเนื่อง สร้างรายได้ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอนาคต นอกจากนี้ ยังเอื้อให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ต้นแบบ ตามเป้าหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรม S-Curve ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อีกด้วย
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเร่งรัดผลักดันให้มีการดำเนินการในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้มีความสำเร็จของยางไทย ที่ประเทศโอมานเข้าร่วมโครงการส่งเสริมความร่วมมืออุตสาหกรรมยางด้านนวัตกรรมถนนผสมยางพารา และได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานต้นแบบถนนยางพาราที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกทั้งมุ่งต่อยอดงานวิจัยพร้อมผลักดันนวัตกรรมถนนยางพาราไทยสู่เวทีโลก ให้ความสนใจเทคโนโลยีการผสมยางสำหรับทำถนนของไทย เนื่องจากถนนลาดยางพารา เป็นนวัตกรรมงานวิจัยที่ไทยพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับยางพารา เพราะประเทศไทยมียางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจและผลิตมากที่สุดในโลก ถนนผสมยางพาราได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับชาติ ความโดดเด่นของการนำยางพารามาผสมเพื่อทำถนน จะเป็นการเพิ่มคุณสมบัติการทนความร้อนได้มากกว่าถนนยางมะตอยปกติ และมีค่าความยืดหยุ่นและคืนตัวดีกว่า มีความแข็งแรงและอายุการใช้งานที่มากกว่า ทำให้เหมาะสมกับประเทศในเขตร้อน
"ในฐานะนายกฯ จะเป็นสะพานก้าวข้ามไปตามสิ่งที่เรามุ่งหวังไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุขและสันติสุขแก่ประเทศไทย และพร้อมจะทำให้ดีที่สุด"