นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสุราให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งสุราที่ผลิตในประเทศ และสุรานำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและตามหลักสากล
ทั้งนี้ ก่อน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สุราในประเทศ กำหนดให้ผู้ผลิตสุราต้องส่งตัวอย่างสุราที่ผลิตให้กรมสรรพสามิตตรวจวิเคราะห์คุณภาพ โดยสุราดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ในกรณีของสุรานำเข้า ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องส่งตัวอย่างสุราเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพ มีเพียงข้อกำหนดเรื่องแรงแอลกอฮอล์ของสุรานำเข้าว่าจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ถือเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างสุราในประเทศและสุรานำเข้า
ต่อมาได้มีการแก้ไขประเด็นดังกล่าว ใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างสุราที่ผลิตในประเทศและสุรานำเข้า โดยได้ออกกฎกระทรวงการอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 และนำมาตรการควบคุมคุณภาพสุรามากำหนดไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสุราในประเทศ โดยให้ผู้ผลิตสุราในประเทศต้องส่งตัวอย่างสุราที่ผลิตได้เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนอนุญาตให้ผลิตออกจำหน่าย และให้ผู้ประสงค์จะนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายในประเทศ จะต้องส่งตัวอย่างสุราให้กรมสรรพสามิตตรวจวิเคราะห์คุณภาพ หรือส่งหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสุราว่าสุราดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก่อนขออนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร
อนึ่ง ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เป็นมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ผลิตในประเทศต้องส่งตัวอย่างสุราเพื่อตรวจสอบ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนมีการผลิตสุรา ประกอบกับมาตรฐานดังกล่าว สามารถให้ผู้ผลิตในประเทศยื่นขอใช้เครื่องหมายแสดงมาตรฐาน (มอก.) ได้ โดยกำหนดให้ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งปรากฏว่าการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ใช้ในปัจจุบัน ประกอบกับผู้นำเข้า สถานทูตของประเทศต่างๆ ได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับความแตกต่างของเทคโนโลยีด้านการผลิต และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราของไทย ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามหลักสากล จึงขอให้ไทยพิจารณาทบทวนมาตรฐานดังกล่าว
กรมสรรพสามิต จึงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์การตรวจและวิเคราะห์คุณภาพสุรา เพื่อศึกษาแนวทางในการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การขออนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะคำนึงถึงด้านสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคสุราเป็นสำคัญ อีกทั้งให้สอดคล้องตามแนวทางปฏิบัติตามหลักสากล โดยมีหลักการในการพิจารณา ดังนี้
1. หลักการด้านสุขภาพอนามัย โดยคำนึงถึงสุขภาพ อนามัย และต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งใช้ข้อมูลสถิติผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสุราที่ผลิตในประเทศและสุรานำเข้า ผลการศึกษาหรือผลงานวิจัย และข้อมูลต่างประเทศสำหรับการอ้างอิงในการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว 2. หลักปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล ซึ่งจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจหรือต้องไม่เป็นการกีดกันทางการค้า
กรมสรรพสามิต จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 เพื่อให้กรมสรรพสามิตมีอำนาจในการออกประกาศมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุรา โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามหลักสากล โดยขอแก้ไขข้อ 5 (2) จากเดิม "ส่งตัวอย่างสุราที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่ออธิบดี เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนยื่นคำขอใบอนุญาต หรือส่งหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสุราดังกล่าวว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ..." เป็น "ส่งตัวอย่างสุราที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่ออธิบดีเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพก่อนยื่นคำขอใบอนุญาต หรือส่งหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสุราดังกล่าวว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด ..."
ทั้งนี้ กรมฯ จะได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราสำหรับสุราที่ผลิตในประเทศและสุรานำเข้าใหม่ตามแนวทางที่คณะทำงานฯ ได้ให้ความเห็นชอบ โดยแบ่งมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราเป็น 4 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานไวน์ มาตรฐานสุราแช่อื่น มาตรฐานสุรากลั่น และมาตรฐานเบียร์ต่อไป