นายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "แนวโน้มของเศรษฐกิจและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ราบรื่นน่าจะช่วยสนับสนุนแนวโน้มการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยให้ตลาดทุนของประเทศไทยมีการพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีต่อไป
ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ทีมเศรษฐกิจและกลยุทธ์ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ประเทศไทยน่าจะดำเนินการลงทุนในระดับสูงเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสภาวะทางการเมืองในประเทศอาจจะยังมีความไม่แน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มศักภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
ในปี 62 เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงเติบโตได้ที่ระดับ 3.8% แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัว อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องมาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน
นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคอุตสาหกรรมของฟิทช์ กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะในระบบขนส่งมวลชนทางราง (rail mass transit) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยมีระยะทางของระบบการส่งมวลชนทางรางเฉลี่ยที่ประมาณ 10 กิโลเมตรต่อประชากร 1 ล้านคน สำหรับกรุงเทพฯ ในขณะที่ประเทศสิงค์โปร์มีระยะทางเฉลี่ยที่ประมาณ 30 กิโลเมตรและกรุงกัวลาลัมเปอร์มีระยะทางเฉลี่ยที่ประมาณ 50 กิโลเมตร
ฟิทช์คาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในระบบการขนส่งมวลชน ระบบขนส่งทางราง ระบบขนส่งทางถนน สนามบิน และท่าเรือ น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยลดความแตกต่างดังกล่าวให้น้อยลง