นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ก.พ.62 ว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 95.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.8 ในเดือน ม.ค.62 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะยานยนต์ สิ่งพิมพ์ อาหาร เป็นต้น
แต่ผู้ประกอบการส่งออกยังมีความกังวลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ โดยเดือนกุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค 1.6% ถือเป็นข้อที่ผู้ส่งออกค่อนข้างกังวล ทำให้กระทบต่อการวางแผนและการกำหนดราคา รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง
"ถ้าเงินบาท Swing สัก 0.5-1.0% ยังพอรับได้ แต่เงินบาทเรา Swing ประมาณ 1.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 31.40 บาท/ดอลลาร์"
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 104.1 ในเดือน ม.ค.62 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังว่าภายหลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจน และส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2562
"ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวสูงสุดในรอบ 6 ปีนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และมีแนวโน้มดีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากกำลังซื้อดีขึ้นและได้รับกระแสการเลือกตั้งช่วยหนุนด้านจิตวิทยา" นายสุพันธุ์ กล่าว
โดยผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1.เสนอให้ภาครัฐหามาตรการในเชิงรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับยุค Disruptive Technology 2.เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ และ 3.เสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับกลุ่มประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน เช่น กลุ่มประเทศยูโรโซน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยูเรเซีย
สำหรับการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นฯ ประจำเดือน ก.พ.62 ได้สำรวจจากผู้ประกอบการจำนวน 1,162 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม 28.8% อุตสาหกรรมขนาดกลาง 36.9% และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 34.3% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง 36.0% ภาคเหนือ 15.4% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13.9% ภาคตะวันออก 23.1% และภาคใต้ 11.6% และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ 79.4% และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ 20.6%
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) และการส่งออกลงนั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เห็นตรงกันว่าโอกาสที่ GDP และการส่งออกน่าจะลดลง แต่จะอยู่ที่เท่าไหร่ต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินอีกครั้งในวันที่ 3 เม.ย.นี้