ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงเป้าส่งออกไทยปีนี้โต 4.5% ติดตามปัจจัยผลกระทบสงครามการค้า-การชะลอตัวของศก.จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 21, 2019 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ปัจจัยฐานที่สูงจากการเร่งนำเข้าของจีนและสหรัฐฯ ในปีก่อน, วัฎจักรขาลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าไทยตลอดช่วงไตรมาสที่ 1/2562 ให้หดตัวในช่วงกรอบประมาณการที่ -4 ถึง -2%

ในขณะที่ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แม้จะยังมีความไม่แน่นอน แต่ก็มีสัญญาณที่เป็นบวกมากขึ้นว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศจะหาบทสรุปร่วมกันได้ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนจากจีน นับเป็นการลดแรงกดดันบรรยากาศการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี 2562 แต่ยังต้องติดตามรายละเอียดการเจรจาทางการค้าที่จะออกมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 ไว้ที่ 4.5% (กรอบประมาณการที่ 2-6%) ซึ่งยังต้องติดตามผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนเม.ย.62 และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ

โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ก.พ.62 พบว่าพลิกกลับมาขยายตัว 5.9% ซึ่งเป็นผลของปัจจัยชั่วคราวที่มีการส่งออกอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบที่นำเข้ามาใช้ในการซ้อมรบเมื่อเดือนม.ค.62 กลับไปยังสหรัฐฯ เมื่อหักลบมูลค่าการส่งออกอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบแล้ว การส่งออกสินค้าของไทยหดตัว 3.4% ในเดือนก.พ.62 สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าของประเทศในภูมิภาคที่หดตัวสูงในเดือนเดียวกัน เช่น จีน (-20.7%) ญี่ปุ่น (-1.2%) และไต้หวัน (-8.8%)

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทย (ไม่รวมอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบ) หดตัวในเดือนก.พ.62 ยังมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่การเจรจาถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนเม.ย.62 วัฎจักรขาลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงฐานการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมในปีก่อนที่สูงจากระดับราคาน้ำมันดิบที่สูง และการเร่งนำเข้าของจีน

ขณะที่ดุลการค้าในเดือนก.พ.62 กลับมาเกินดุล 4,034.4 ล้านดอลลาร์ฯ หลังขาดดุล 4,032.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากรายการพิเศษที่นำเข้ามาใช้ในการซ้อมรบเมื่อเดือนก่อน ถูกบันทึกเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเมื่อส่งกลับสหรัฐฯ ในเดือนก.พ.62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ