นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 2/2562 ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธาน ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนของสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ที่จะต้องพิจารณาในส่วนของหลักประกันสัญญา ค่าปรับ ที่ประชุมได้มอบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษารายละเอียดทางเทคนิคให้รอบคอบและครบถ้วนก่อนเจรจากับจีน เนื่องจากยังมีประเด็นด้านเทคนิคที่ยังไม่ชัดเจน 7 ข้อ ได้แก่ 1.Project Management จีนเสนอที่ 1,400 ล้านบาท 2.ค่าออกแบบ (Detail design) จีนเสนอ 700 ล้านบาท 3. Joint Testing and Commissioning 4.Work Plan for Key Date 5.Key Personal จีนเสนอข้อ 3-5 รวมที่ 365 ล้านบาท 6.General Requirement จีนเสนอ 1,173.71 ล้านบาท และ 7. Interface Management เนื่องจากฝ่ายจีนให้ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะนำมาพิจารณาประเมินหรือเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายได้
สำหรับการใช้ที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของกองทัพบกเป็นที่ตั้งของสถานีปากช่อง ประมาณ 216 ไร่ นั้น กองทัพบกไม่ขัดข้อง โดย รฟท.จะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ชัดเจนต่อไป
ส่วนผลการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างไทย - ลาว - จีน ในการเชื่อมโยงทางรถไฟ ช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ จะมีการก่อสร้างสะพานทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน และขนาดราง 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร สำหรับรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน โดยรถไฟจากหนองคาย-เวียงจันทน์ มีระยะทางประมาณ 14 กม. การออกแบบและการก่อสร้างใช้มาตรฐานของจีน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้เจรจาในเบื้องต้นว่า ฝ่ายไทยและลาวจะรับผิดชอบค่าก่อสร้างร่วมกัน โดยแบ่งความรับผิดชอบจากบริเวณกึ่งกลางสะพานบนแม่น้ำโขง และมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและผู้โดยสารในฝั่งลาวอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง ฝ่ายไทยใช้สถานีนาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า และที่สถานีหนองคายเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ซึ่งจะมีระบบรถไฟความเร็วสูงรองรับที่สถานีหนองคาย