ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า การขยายตัวของการส่งออกในปี 2562 มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.4% เนื่องจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรก (หากไม่รวมการส่งกลับอาวุธ) มีการหดตัวมากกว่าที่คาด จากปัจจัยลบทั้งในส่วนของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากสงครามการค้า แม้ว่าล่าสุดจีนและสหรัฐฯ จะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น โดยสหรัฐฯ ได้ทำการเลื่อนการขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ออกไป จากเดิมที่จะขึ้นในวันที่ 1 มี.ค.62 อย่างไรก็ดี ในภาพรวมก็ยังถือว่าสงครามการค้ายังคงมีทิศทางยืดเยื้อ
นอกจากนี้ อีไอซีมองว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 62 มีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ ให้มีทิศทางชะลอลงเช่นกัน
อีไอซี มองว่าการขยายตัวของการนำเข้า มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ตามการส่งออกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ประกอบกับแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 62 ยังส่งผลต่อการขยายตัวของมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง ทำให้คาดว่าการนำเข้าทั้งปี 62 จะมีทิศทางชะลอลงจากปี 61 อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่าสินค้านำเข้าประเภทอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศจะยังขยายตัวได้
สำหรับการส่งออกไทยในเดือนก.พ.62 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.9% หลังหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -5.6% โดยเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราวด้านการขนอาวุธกลับของสหรัฐฯ ภายหลังการซ้อมรบ ทำให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวในภาพรวมสูงกว่าปกติ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกอาวุธอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นกว่า 8.8% ของมูลค่าส่งออกในเดือนก.พ. โดยหากหักการส่งออกอาวุธและยุทธปัจจัย มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -3.4% และหากหักการส่งออกทองคำเพิ่มเติม พบว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -4.8% นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ การหดตัวของมูลค่าการส่งออกไทย (เมื่อมีการหักมูลค่าส่งกลับอาวุธ) มีทิศทางสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนทิศทางการค้าโลกที่ลดลงจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้สินค้าหลักของไทยที่มีการหดตัวในเดือนก.พ. ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และเคมีภัณฑ์
ด้านมิติการส่งออกรายตลาดสำคัญ พบว่า การหดตัวของมูลค่าการส่งออกรายตลาดมีทิศทางกระจายตัวมากขึ้น (broad-based) กล่าวคือ ตลาดส่งออกของไทยที่มีการหดตัวในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าส่งออกรวม (รวมการส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ในเดือนก.พ. จะขยายตัวได้ 97.3% แต่หากหักอาวุธและยุทธปัจจัย จะคิดเป็นการหดตัวที่ -11.7%) เทียบกับในเดือนม.ค. ที่ตลาดส่งออกที่มีการหดตัวคิดเป็นเพียง 66.6% เท่านั้น สะท้อนว่าทิศทางการค้าโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจน
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าส่งออกของจีน ยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเนื่อง โดยพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในภาพรวม มีทิศทางหดตัวตามการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าส่งออกของจีนนั้น มีทิศทางหดตัวมากกว่าสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากพิจารณาลงรายละเอียดพบว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบยังมีการหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดแผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และยางพารา ที่มีการหดตัวที่ -8.3% -32.5% -33.4% และ -26.0% ตามลำดับ
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -10.4% ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวที่ 14.0% (ขยายตัวในระดับสูงจากการนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อทำการซ้อมรบ) โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่านำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์มีการหดตัวในระดับสูง เกิดจากการหดตัวของการนำเข้าทองคำ (-56.8%) และสินค้าทุนพิเศษ ประเภทเครื่องบิน เรือ และรถไฟ (-91.0%) ทั้งนี้หากไม่รวมสินค้าดังกล่าวพบว่า มูลค่านำเข้าเหลือหดตัวเพียง -3.2%