นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2561 ปริมาณคำขอการตรวจคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าและปริมาณการขอตรวจสอบย้อนหลังถิ่นกำเนิดสินค้าจากศุลกากรประเทศปลายทางมีปริมาณคำขอลดลงจากปี 2560 กว่า 7.25% และ 18.09% ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการมีการขึ้นทะเบียนขอรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ กรมฯ ได้จัดทำระบบ Thailand Certificate On-line Inquiry System หรือ TCOIS เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ศุลกากรปลายทางให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ศุลกากรปลายทางสามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ทันที และในปัจจุบันมีประเทศที่ยื่นคำขอใช้ระบบ TCOIS แล้วจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลี รัสเซีย และเมียนมา ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ TCOIS เพื่อให้สามารถแสดงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เป็นผลมาจากกรมฯ ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานศุลกากรต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลี เป็นต้น ในการเข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทย เพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดจากไทย โดยผลการตรวจสอบพบว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีการผลิตที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ของประเทศผู้นำเข้าปลายทาง ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า รวมทั้งลดความเสี่ยงที่อาจถูกตรวจสอบย้อนหลังจากศุลกากรประเทศปลายทางได้ด้วย
ทั้งนี้ กรมฯ มีระบบการตรวจสอบคุณสมบัติของสินค้าที่เข้มงวดและรัดกุมก่อนการส่งออก ที่เรียกว่าระบบ "ROVERs" เพื่อยืนยันว่าสินค้ามีการผลิตจากประเทศไทยจริง ไม่ได้เป็นสินค้าที่มีการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งระบบดังกล่าวยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการยื่นผลการตรวจคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อไปประกอบการยื่น Form ต่างๆ ไม่ถูกต้อง
"ผู้ส่งออกจะต้องให้ความสำคัญกับการจำแนกแหล่งที่มาของวัตถุดิบ การคำนวณมูลค่าวัตถุดิบให้ถูกต้อง โดยต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวให้ถูกต้องในแต่ละครั้งของการส่งออก"นายอดุลย์ กล่าว