พาณิชย์ ส่งเสริมผู้ประกอบการใช้สิทธิ Form D เร่งขยายมูลค่าการส่งออกไปเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2019 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไทยไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะชะลอตัว การขยายฐานตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต จึงเป็นแนวทางในการรักษาระดับการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทย โดยประเมินว่าตลาดที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจและมุ่งเข้าไปทำตลาด คือ ตลาดเวียดนาม เนื่องจากเป็นตลาดที่ไทยมีแต้มต่อด้านภาษีศุลกากรนำเข้าและภาพลักษณ์ด้านคุณภาพของสินค้าที่ครองใจและต้องใจผู้บริโภคเวียดนาม

โดยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน เวียดนามจะต้องยกเว้นและลดหย่อนภาษีนำเข้าแก่สินค้าที่ส่งออกและมีถิ่นกำเนิดไทย 10,250 รายการ คิดเป็น 99.55% ของรายการสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ การขอใช้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรนำเข้าเวียดนาม ผู้ประกอบการต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D ไปสำแดงต่อศุลกากรเวียดนาม เพื่อขอรับสิทธิฯ ดังกล่าว

จากประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 6.5% ต่อปี และคาดว่าจะเติบโตในอัตราดังกล่าวไปจนถึงปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มมูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าส่งออกไปยังเวียดนามได้แตะระดับ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2561 มูลค่าส่งออกไปเวียดนามอยู่ที่ 12,836 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัจจุบัน เวียดนามเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 รองจาก จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน สินค้าส่งออกสำคัญไปตลาดเวียดนามประกอบด้วย น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ รถปิกอัพ ผลไม้สดและแห้ง อะไหล่และส่วนประกอบยานยนต์ โพลีเอทิลีน ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กุ้งแช่แข็ง ยางรถยนต์ ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้รับเสียสิทธิภาษีนำเข้าในอัตรา 0% ทั้งนี้ มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ไปตลาดเวียดนามปี 2561 อยู่ที่ 7,985.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 29.69% ของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมในตลาดอาเซียน

นอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ รถปิกอัพ อะไหล่และส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ เวียดนามยังมีโอกาสสำหรับสินค้าไทยอีกมากมาย โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นตลาดเครื่องดื่มใหญ่อันดับ 3 ของโลก

โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ปริมาณความต้องการเครื่องดื่มของตลาดเวียดนามจะแตะระดับ 100,000 ล้านลิตร ซึ่งอัตราภาษีปกติสำหรับสินค้าเครื่องดื่มอยู่ระหว่าง 27%-41.5% ขณะที่อัตราภาษีที่สินค้าเครื่องดื่มจากไทยจะถูกจัดเก็บ หากมีหนังสือรับรองฯ Form D อยู่ที่ 0% เช่นเดียวกับสินค้าอาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอางค์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับแฟชั่น รวมถึงของใช้สำหรับเด็ก ซึ่งจะเสียภาษีในอัตรา 0% (หากมีหนังสือรับรองฯ Form D)

"อาจกล่าวได้ว่า สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง AFTA สร้างแต้มต่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันเวียดนามเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนแปลจากการเน้นความคุ้มค่าด้านราคาและความจำเป็นเป็นความถูกตาต้องใจ ดังนั้น เวียดนามจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่คุณภาพ ดีไซน์น่าสนใจ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเวียดนามได้" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ

นายอดุลย์ ย้ำว่า สินค้ากว่า 10,193 รายการ หรือคิดเป็นเกือบ 99% ของรายการสินค้าทั้งหมด จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีนำเข้าเวียดนาม ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าซึ่งผลิตในประเทศไทย ย่อมเข้าข่ายที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรนำเข้าจากเวียดนามได้

ทั้งนี้ การยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะต้องมีหนังสือรับรองฯ Form D ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ไปแสดงต่อศุลกากรเวียดนาม ซึ่งกระบวนการในการยื่นขอและตรวจสอบสถานะคำขอ สามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขอรับหนังสือรับรองฯ Form D แม้ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการยังคงต้องเดินทางมารับหนังสือรับรองฯ Form D จากกรมฯ กรณีส่งออกไปเวียดนาม เนื่องจากอุปสรรคทางเทคนิคจึงทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองฯ Form D ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e Form D) ระหว่างกรมฯ และศุลกากรเวียดนามยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่การแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบ

กรมฯ ได้เร่งรัดให้มีความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคกับฝ่ายเวียดนาม เพื่อให้ขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการรับข้อมูลของฝ่ายเวียดนาม เพื่อให้สามารถนำระบบ e Form D มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง AFTA

ทั้งนี้ กรมฯ จะใช้ความสำเร็จจากการใช้ระบบ e Form D กับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มาเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อผลักดันให้มีการนำระบบ e Form D มาบังคับใช้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือไม่ว่าจะเป็น บรูไน ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และเมียนมา ในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ