ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยภาพรวมสินเชื่อแบงก์ก.พ.62 เร่งตัวขึ้นจากแรงหนุนชั่วคราวในสินเชื่อบ้าน-รถยนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 26, 2019 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ภาพรวมสินเชื่อสุทธิในเดือน ก.พ.62 กลับมาเร่งตัวขึ้นจากแรงหนุนของสินเชื่อรายย่อยหลัก ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถ ตามอุปสงค์ที่เร่งตัวจากปัจจัยชั่วคราว กล่าวคือ การเร่งโอนบ้านก่อนมาตรการสินเชื่อใหม่มีผลใน 1 เม.ย.62 และยอดขายรถที่คาดว่ายังมีการทยอยส่งมอบรถต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่แล้ว

สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ในภาพรวมยังถูกฉุดรั้งจากการชำระคืนหนี้ ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิในเดือนนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท หรือ 0.26% จากเดือนก่อน ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางธนาคาร อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนสินเชื่อสุทธิยังหดตัวลง 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคธุรกิจเอกชนระดมทุนทางตรงด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่กว่า 1 แสนล้านบาทในช่วง 2 เดือนแรกของปี ซึ่งในจำนวนนี้แม้จะเป็นการออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ แต่มีจำนวนกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทที่ใช้เพื่อชำระคืนหนี้สถาบันการเงินและขยายธุรกิจ

ด้านเงินฝากในเดือน ก.พ.62 ขยับขึ้นในจำนวนที่สูงกว่าสินเชื่อ แต่ยังไม่สะท้อนการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากในเดือนนี้มีเพียงธนาคารบางแห่งเท่านั้นที่ออกแคมเปญเงินฝากพิเศษใหม่ ประกอบกับยอดเงินฝากที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมเงินฝากในเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.66 หมื่นล้านบาท หรือ 0.37% จากเดือนก่อน แม้ว่าจะมีเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งที่ลดลงตามการครบกำหนดของบัญชีเงินฝากประจำ โดยการแข่งขันด้านราคาที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับทิศทางการส่งสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดทอนน้ำหนักการดำเนินนโยบายการเงินที่เคร่งครัด เพื่อรอความชัดเจนของปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงตัวแปรด้านสถานการณ์การเมือง

ส่วนทิศทางสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าจะยังผ่อนคลายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคงจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ทำให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า คงอยู่ในสถานะประคองตัวและไม่เห็นการเร่งขึ้นอย่างหวือหวา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลสะท้อนถึงสินเชื่อเพื่อการส่งออกบางประเภทให้ชะลอลงตาม ตลอดจนภาคธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ