(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.พ.หดตัว 1.6% YOY รับผลกระทบอุตฯ เหล็กหยุดเดินเครื่องซ่อมบำรุง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 26, 2019 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 105.24 ปรับลดลง 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และลดลง 2.91% จากเดือนก่อนหน้า (MOM) โดยได้รับผลกระทบจากการหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ชำรุดของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานของผู้ผลิตบางรายที่ลดการผลิตลงกว่า 14.4%

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือนก.พ.62 คือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยขยายตัว 7.5% (รวมทองคำ) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 จะชะลอตัวลงเหลือ 3.5% จาก 3.7% ในปี 2561

ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาล สุรา น้ำมันปิโตรเลียม และเม็ดพลาสติก

โดยอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ 1 ตัน ที่ยอดจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.59% รวมถึงรถยนต์นั่งขนาดกลางที่ยอดจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 69.78% และยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 59.59%โดยเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ผลิต

น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำตาลทรายดิบ และกากน้ำตาล โดยมีสาเหตุจากโรงงานน้ำตาลที่ขยายกำลังการผลิต และการสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่ ส่งผลให้กำลังการหีบอ้อยเพิ่มขึ้น

สุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้น 65.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสรุราขาวและสุราผสม โดยมีสาเหตุจากการหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรในปีก่อน รวมถึงการเร่งผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์

"อุตสาหกรรมสุราโตโดดเด่น เนื่องจากมีการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ที่ยอดการจำหน่ายในช่วงการเลือกตั้งจะมากกว่าปกติ และยังผลิตเพื่อรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งปีที่ผ่านมามีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร"

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ 95 ที่เป็นไปตามความต้องการใช้นำมันในประเทศเพื่อการเดินทางขนส่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง

เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene เนื่องจากมีการเร่งผลิตเต็มที่หลังจากการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ของผู้ผลิตบางราย

ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดัชนีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 มีค่า 101.55 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัว 3.48% จากผลิตภัณฑ์ Polystyrene resin (PS), Expandable polystyrene (EPS), ABS resin และ Polyethylene resin (PE) ที่เพิ่มขึ้น 18.94% 16.26% 11.55% และ 7.34% ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก จากการที่สหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน

"ดัชนี MPI เดือนก.พ.ยังคงแข็งแกร่ง แม้ได้รับผลกระทบจากการหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ชำรุดของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานของผู้ผลิตบางรายที่ลดการผลิตลง อีกทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นจนทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวที่ 6.0%" นายณัฐพล กล่าว

ส่วนประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือนมี.ค.62 คือ มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือน ก.พ.62 ติดลบ 8.0% ติดลบเป็นครั้งที่สองใน 3 เดือนหลังสุด อาจส่งผลต่อ MPI ในช่วงเวลาข้างหน้า และการเลือกตั้งที่ผ่านไปช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

นายณัฐพล กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมา คงยังไม่มีผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.นี้ เนื่องจากแนวโน้มดัชนี MPI และอัตราการใช้กำลังการผลิต อาจจะลดลงตามสถานการณ์เพราะช่วงเดือนเม.ย. วันทำงานน้อย การผลิตจะลดลงตามด้วย

"การนับคะแนนยังไม่จบ การคำนวณว่ามีส.ส.เท่าไหร่ยังไม่จบ ช่วงสูญญากาศไม่น่าจะลามออกไปไกลมาก แต่ถ้ามองการตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าพิจารณาจากนโยบายอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะมีทิศทางไปใกล้ๆกัน พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีวิชั่นในอุตสาหกรรมอนาคตทั้งสิ้น ในแง่ของรายละเอียดจะต่างกันไปอย่างไร เช่น รัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันรถไฟเส้นทางนึง ขณะที่พรรคการเมืองอีกพรรคนึงจะทำรถไฟไปอีกเส้นทางนึง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร อยากให้มองว่า ในการเริ่มต้นทำเรื่องรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราง หรือระบบอื่นๆ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเริ่มมีการผลิตในประเทศ ในแง่ของการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมอนาคตน่าจะมีทิศทางคล้ายกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นการลงทุนในประเทศส่วนใหญ่น่าจะเป็นบวก"

นายณัฐพล กล่าวว่า ในแง่ดัชนี MPI การจับจ่ายใช้สอยต่างๆ จะมาจากมาตรการหรือวิถีในการดูแลเกษตรของแต่ละพรรค ในระยะสั้นต้องดู 3 เรื่อง คือ เกษตร แรงงาน ท่องเที่ยว ซึ่งจะมีทั้งที่จะทำเป็น Short Term และ Long Term ผลที่ออกมาก็จะต่างกัน แต่น่าจะยังไม่มีผลในเร็วๆนี้

นายณัฐพล คาดว่า จะเริ่มเห็นความชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ในช่วงเดือนพ.ค.เพราะนโยบายด้านเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การผลิตโดยเฉพาะนโยบายด้านเกษตรที่อาจมีนโยบายระยะสั้นกระตุ้นราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรส่งผลต่อ MPI และภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นยังคงเป้าดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 62 ไว้ที่ 2-3% ตามเดิม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คาดว่าจะดีขึ้นแน่ๆ คือ การส่งออก เนื่องจากเชื่อว่าการเจรจา FTA กับต่างประเทศจะดีขึ้นแน่นอน เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รูปแบบการเจรจาต่างๆ จะไปได้ดีกว่าแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ