นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง "ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดจีนด้วยเอฟทีเอ" โดยระบุว่า นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีนมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2548 ไทยและจีนได้ทยอยลดเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันมาเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ยกเลิกภาษีสินค้าเกษตรบางรายการเมื่อต้นปี 2549 จนล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าชุดสุดท้ายระหว่างกันเหลือ 0-5% แล้ว เช่น สับปะรดแปรรูป, โพลิเอสเตอร์, แป้งข้าวเจ้า, ปลายข้าว, เคมีภัณฑ์, ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2561 มีมูลค่า 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 294.3% จากปี 2548 ที่เอฟทีเอเริ่มใช้บังคับ และขยายตัว 8.7% จากปี 2560 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปจีน 30,175.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากจีน 49,961ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน กล่าวเสริมว่า จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ในปี 2561 จะเกิดวิกฤติทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ไทยยังคงขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยตื่นตัว และเตรียมพร้อมในการวางแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางการค้า และรักษาความสามารถการแข่งขันของไทยในจีน ผ่านการขยายการส่งออกในสินค้าที่จีนมีความต้องการเพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป
การเจาะตลาดเข้าสู่เมืองใหม่ๆ ของจีน โดยเฉพาะมณฑลทางฝั่งตะวันตกของจีน การขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซในร้านออนไลน์ที่มีชื่อของจีน รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีเอฟทีเออาเซียน-จีน ที่ทำให้ไทยและจีนต้องลดภาษีศุลกากรสินค้าชุดสุดท้ายลงเหลือ 0-5% เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปจีนได้เพิ่มขึ้น เป็นมูลค่ากว่า 1,907.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 8.1% จากปี 2560 โดยสินค้าที่ได้ประโยชน์ เช่น กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ ปลายข้าวกระดาษพิมพ์ แผ่นชิ้นไม้อัด เคมีภัณฑ์ แป้งข้าวเจ้า เป็นต้น
ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน เป็นมูลค่า 6,251.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.5% จากปี 2560 เช่น แผงไฟ เครื่องอัดชนิดที่ใช้ในเครื่องทำความเย็น หม้อแปลงไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และทองแดง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในปี 2561 ทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีน เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปจีนโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 17,633.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 58.4% ของมูลค่าการส่งออกไปจีน
โดยสินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน มันสำปะหลัง พารา-ไซลีน และโพลิเมอร์ของเอทิลีน เป็นต้น ขณะที่เป็นการนำเข้าจากจีนโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 13,383.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 26.8% ของมูลค่าการนำเข้าจากจีน โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้น เช่น แผ่นเหล็กชุบ/เคลือบ แผ่นเหล็กรีดเจือ แผ่นอะลูมิเนียม พืชผักแห้ง (เห็ด กระเทียม) และโคมไฟ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวต่อว่า งานสัมมนาฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ DTN Business Plan Award 2019 ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และชี้โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปจีนโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป
โดยเดือนเมษายนนี้ กรมฯ จะจัดกิจกรรมคัดเลือกผู้ประกอบการ SME สาขาเกษตรและเกษตรแปรรูปที่สนใจสมัครเข้าอบรมบูธแคมป์ "เทคนิคการรุกตลาดจีนให้รวยด้วยเอฟทีเอ" จำนวน 3 วัน ณ จังหวัดปราจีนบุรี โดยผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องการเขียนแผนธุรกิจและการขยายตลาดสู่จีนด้วยเอฟทีเอ หลังจากนั้นจะมีการประกวดนำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 ทีม เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมงาน The 10th China (Shanghai) International Catering Food & Beverage Exhibition 2019 ที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2562 เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จริง