นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำได้เร็ว หรือไม่เกินเดือนมิ.ย.62 ตามสมมติฐานที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดไว้ ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ GDP ปีนี้จะยังขยายตัวได้ 3.8% ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าไปกว่านั้น มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ตลอดจนเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เช่น การชุมนุมประท้วง
"ถ้าตั้งรัฐบาลได้เร็ว ปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ก็จะหายไป แต่ปัญหาตอนนี้ คือไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะเดินไปในทิศทางไหน ทำให้คาดเดาแนวโน้มเศรษฐกิจยาก แต่ก็เป็นไปตามที่ กนง.คาดการณ์ไว้ว่าในระยะสั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ถ้าดูนโยบายแต่ละพรรค และพอรู้ว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล ก็สามารถเอานโยบายมารวมในสมมติฐานคาดการณ์เศรษฐกิจได้" นายดอน กล่าว
พร้อมมองว่า จะเริ่มเห็นแนวโน้มการส่งออกฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนช่วงครึ่งปีแรกจะยังมีเพียงบางเดือนที่ขยายตัว และบางเดือนหดตัว สลับกันไป โดยว่าการส่งออกในไตรมาส 1/62 จะหดตัว และมีความเป็นไปได้ที่ครึ่งปีแรกจะหดตัวด้วย แต่ยังเป็นเรื่องระยะยาวไปที่จะคาดการณ์ ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนน่าจะได้ข้อสรุป
นอกจากนี้ คาดว่าหลายประเทศจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งหยุดความเข้มงวดในการใช้นโยบายดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกไม่ให้ทรุดตัวลงต่อเนื่อง รวมทั้งยังคาดว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีหลัง จากนั้นจะเริ่มฟื้นตัวได้
นายดอน กล่าวว่า ส่วนปัจจัยภายในที่คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น มาจากการย้ายฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ แม้แนวโน้มการผลิตเพื่อส่งออกจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ก็เห็นสัญญาณการนำเข้าเพื่อขยายกำลังการผลิตในระยะต่อไป รวมทั้งการประกาศปลดธงการแก้ไขปัญหาประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ให้กับไทย ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ คงเติบโตไม่มากนัก โดยอยู่ที่คาดการณ์ 3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 7%