นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะใช้โอกาสที่ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ชูประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันการขยายขอบเขตการบังคับใช้การเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) และการปรับระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน (ASEAN-Wide Self-Certification) ซึ่งจะช่วยยกระดับความสะดวกและความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยต้นทุนการดำเนินธุรกรรมที่ลดต่ำลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการส่งออกของผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้เปิดเสรีสินค้าระหว่างกันไปแล้ว โดยสินค้าเกือบทุกรายการที่เป็นสินค้าส่งออกและมีถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่การขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (Form D) ไปสำแดงต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้า ซึ่งการขอรับ Form D หรือการนำไปแสดงทำให้เกิดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไป แม้ว่าปัจจุบันอาเซียนจะมีโครงการนำร่อง 2 โครงการ โดยแต่ละโครงการมีสมาชิก ระเบียบ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติแตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนในการปฏิบัติ จึงทำให้การตอบรับจากภาคเอกชนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่อาเซียนได้วางไว้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมั่นใจกับการยื่นขอ Form D แบบกระดาษเพื่อนำไปขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อศุลกากรประเทศปลายทางมากกว่า
"กรมฯ ได้ผลักดันให้มีการปรับเงื่อนไข ระเบียบ และแนวปฏิบัติของแต่ละโครงการนำร่องให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเรียบง่าย เป็นมิตร และสอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่หลากหลาย และได้ตั้งเป้าการเจรจาประเด็นการขยายขอบเขตการบังคับใช้การเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) และการปรับระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ให้สำเร็จและมีผลบังคับอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2562" นายอดุลย์ กล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการประเมินผลการเข้าร่วมโครงการนำร่อง e-Form D ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่ากระบวนการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากศุลกากรปลายทางมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยสามารถแก้ปัญหาความล่าช้าของการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความแท้จริงของเอกสาร ดังนั้นหากสามารถผลักดันให้การเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Form มีผลบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิกและขยายขอบเขตไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี หรืออินเดีย จะเป็นการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดต้นทุนการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อผู้ประกอบการไทย รวมถึงการส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของอาเซียน