(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มี.ค. ขยายตัว 1.24% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วน Core CPI ขยายตัว 0.58%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2019 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค.62 อยู่ที่ 102.37 ขยายตัว 1.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาด 0.90% และขยายตัว 0.41% จากเดือน ก.พ.62

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือนมี.ค.62 อยู่ที่ 102.34 ขยายตัว 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.02% จากเดือน ก.พ.62

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 103.32 เพิ่มขึ้น 2.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.20% จากเดือน ก.พ.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.84 เพิ่มขึ้น 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.52% จากเดือน ก.พ.62

ส่งผลให้ในไตรมาส 1/62 CPI ขยายตัว 0.74% ส่วน CORE CPI ขยายตัว 0.62%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนมี.ค.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.24% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และราคาพลังงานที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแล้งและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากกว่าปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงในเดือนนี้ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าว และสุกรที่ปรับตัวสูงในช่วงที่ผ่านมายังส่งผลต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาพลังงานในเดือนมี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือน มี.ค.นี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ก.พ.62) จะพบว่ามีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น 139 รายการ เช่น มะนาว เนื้อสุกร กะหล่ำปลี ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช น้ำอัดลม และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง 87 รายการ เช่น ไก่สด ไข่ไก่ นมผง ส้มเขียวหวาน และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.74% ชะลอตัวเล็กน้อยจากระดับ 0.80% ในไตรมาส 4 ปี 61 ซึ่งปัจจัยสำคัญของการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกปีนี้ มาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด (ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ไก่ ผักสด) รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและพลังงาน ในขณะที่กลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยลดทอนของไตรมาสนี้ โดยปรับตัวลดลง 0.79% ตามการลดลงของราคาพลังงานโลก ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ปีนี้ (เม.ย. - มิ.ย.62) คาดว่าจะสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรก มาอยู่ที่ระดับ 1.01% ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก สถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง รวมทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับต้องติดตามสถานการณ์ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายหลังจากการเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้รวมกรณีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในการประมาณการดังกล่าว ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และมีความสอดคล้องกันทั้งอุปสงค์และอุปทาน โดยสัญญาณด้านความต้องการบริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาพลังงานยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างผันผวนแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์กรอบเงินเฟ้อในปีนี้ที่ 0.7-1.7% หรือค่ากลางที่ 1.2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ