นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังคงเชื่อมั่นว่าจะขยายตัวได้ 3.8% ตามที่ ธปท.ประเมินไว้ แม้ว่าปัจจัยภายนอกยังมีความผันผวนและการเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน เนื่องจากพื้นฐานของเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพที่ดี
ขณะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่มาก เนื่องจากการที่ประเทศไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯใปนี 61 และไนปีนี้คาดว่ายังคงเกินดุลในระดับ 3.4-3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเห็นว่าแม้ช่วงต้นปีจะมีเงินทุนไหลออกไปแล้ว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าเงินบาทยังคงมีเสถียรภาพที่ดีและผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆในประเทศเกิดใหม่
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นแล้วหลังจากชะลอตัวบ้างไปในช่วงปลายปีก่อน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ยังคงสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวไทยถือว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ 1.75% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และสหรัฐฯ แต่เกณฑ์การปรับดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศจะต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.นั้นมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.กรอบเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ไนระดับต่ำตามราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มมีราคาถูกลงจากต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีที่มีทันสมัยมากขึ้น
2.ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องมีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นๆ 3.เสถียรภาพทางการเงิน มีเสถียรภาพที่ดีแม้ว่าจะพบสัญญาณความไม่ปกติในบางกลุ่ม เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่ง ธปท.ได้ปรับเกณฑ์เพื่อเข้ามาควบคุมสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทไปแล้ว
"ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่มองว่ายังคงเป็นระดับที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เป็นการหยุดเพื่อรอดูสถานการณ์ต่างๆให้มีความแน่นอนก่อนที่จะกลับมาพิจารณาถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่อีกครั้ง ทำให้ ธปท.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปีในปัจจุบัน ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 63 คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากปีนี้เล็กน้อยที่ 3.9%"
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องแก้ปัญหาในเรื่องโครงสร้างให้มีการกระจายตัวมากขึ้น หลังจากที่พึ่งพารายได้จากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งยังคงต้องทยอยแก้ปัญหาในเรื่องโครงสร้างให้กระจายตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอกที่จะเข้ามามีผลกระทบ
นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าที่กระทบต่อการค้าขายของประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ยังไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าการเจรจาจะจบลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย อีกทั้งความไม่แน่นอนของบทสรุปการ Brexit จะออกมาเป็นอย่างไร ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจในยุโรปเกิดการชะลอตัว
ด้านปัจจัยในประเทศแม้ว่ายังมีความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลปัจจุบันยังมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ทำให้กระบวนการทำงานและการอนุมัติโครงการต่างๆยังคงทำได้ต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องสะดุดในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
และมองว่าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน ก็จะทำให้การอนุมัติโครงการต่างๆ และการเบิกจ่ายงาประมาณยังทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดี เพื่อมาชดเชยกับภาคการส่งออกที่ยังคงชะลอตัว และการบริโภคในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีมากนัก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ และครัวเรือนมีหนี้สินอยู่มาก กดดันต่อกำลังซื้อ
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า วันนี้ (1 เม.ย. 62) เป็นวันแรกที่มาตรการ LTV ใหม่มีผลบังคับใช้ หลังจากที่เกิดปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และการเก็งกำไรของกลุ่มสินเชื่อเงินทอน หรือการทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารเป็นราคาสูงกว่าที่ซื้อจริง รวมทั้งให้โปรโมชั่นท็อปอัพ ทำให้ ธปท.ต้องเข้ามาควบคุม
นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ ธปท.จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบผู้ประกอบการสินเชื่อรถยนต์ไนตลาด เพราะจะมีกรณีการให้สินเชื่อเงินทอนเกิดขึ้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงที่เกิดขึ้นกับสินเชื่อบ้าน และมีโอกาสก่อให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยลบต่อเสถียรภาพทางการเงินได้
"เสถียรภาพทางการเงินถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันกับทุกภาคส่วน หากเกิดความเสียหายต่อระบบการเงินขึ้นก็จะทำให้เกิดความเสียหายที่เป็นห่วงโซ่ และสร้างความกังวลและความไม่มั่นใจให้เกิดขึ้น"นายวิรไท กล่าว