นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.ยกเว้น เบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 เป็นมาตรการต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง และงบการเงินน่าเชื่อถือนำไปใช้ประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินได้
ขณะนี้ กรมสรรพากรได้เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวใน "ระบบส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ" แล้ว ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลปรับปรุงการบันทึกรายการบัญชี ให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ และการออกมาตรการสนับสนุนการจัดทำบัญชีเดียว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสนี้ชำระภาษีให้ถูกต้อง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้จัดทำบัญชีหรืองบการเงินให้ถูกต้อง ขอให้ใช้โอกาสนี้ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิ โดยจะต้องมีคุณสมบัติ กล่าวคือ
1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิ มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่ครบ 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 และ
2. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 ไว้แล้วภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562 และ
3. ไม่เป็นผู้ออกหรือใช้ใบกำกับภาษีอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่กรมสรรพากร ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วภายในวันที่ 25 มีนาคม 2562
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบันทึกรายการบัญชีแล้ว พบว่ายังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ไม่ครบถ้วน สามารถยื่นแบบแสดงรายการปรับปรุงการเสียภาษีย้อนหลังให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องรับภาระ เสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มได้ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร พร้อมจัดพิมพ์หลักฐานการลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิแนบประกอบการยื่นแบบแสดงรายการดังต่อไปนี้ พร้อมชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนทั้งจำนวน (ไม่สามารถผ่อนชำระได้) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
- ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2559 จนถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2562
- อากรแสตมป์ ที่ชำระเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562
- ภาษีอากรทุกประเภทที่มีหน้าที่ต้องหักหรือนำส่ง สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรสำหรับภาษีอากรทุกประเภทตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (E-Filing) ให้ครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เว้นแต่มีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
การยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้จัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ
กรมสรรพากรได้เริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2RIVE บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ผ่านระบบดิจิทัล จากหลายหน่วยงาน เช่น ความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนด ใช้งบการเงินที่แจ้งต่อกรมสรรพากรยื่นขออนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ข้อมูลงบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและบริษัทผู้ทำบัญชีเพื่อการตรวจสอบภาษีอากร
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ครั้งนี้ถือเป็นมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้จัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริง ของกิจการได้ใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว มีงบการเงินที่น่าเชื่อถือ สร้างโอกาสทางธุรกิจ และสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินหรือสินเชื่อ โดยไม่มีภาระภาษีย้อนหลัง สมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ สุดท้ายนี้ เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงกำหนดเวลาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องยื่นแบบ แสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2561 ขอให้ดำเนินการยื่นแบบชำระภาษีให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลา และขอให้ติดตามมาตรการอำนวยความสะดวกในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี เงินได้นิติบุคคลต่อไป
ทั้งนี้ รายละเอียดของมาตรการเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว