BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.55-31.85 ติดตามความคืบหน้าเจรจาการค้า-Brexit โค้งสุดท้าย-ตัวเลขศก.สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2019 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.55-31.85 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.73 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 1.8 พันล้านบาท และ 4.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ในไตรมาส 1/2562 เงินบาทแข็งค่า 2.7% เทียบจากสิ้นปี 2561

ตลาดจะติดตามความคืบหน้าของการเจรจราเพื่อยุติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ หลายรายการ อาทิ ยอดค้าปลีก ดัชนีภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตร ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะหลังออกมาไร้ทิศทางและเพิ่มความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มากขึ้น โดยล่าสุดที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวให้ความเห็นว่าเฟดควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ทันที

นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาโค้งสุดท้ายของทางออก Brexit ขณะที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นว่าสหราชอาณาจักรอาจต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลงหลังเส้นตายในวันที่ 12 เมษายน หลังจากรัฐสภาสหราชอาณาจักรคัดค้านข้อเสนอ Brexit ของนายกฯเมย์เป็นครั้งที่ 3 ภาวะเช่นนี้จะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินสำหรับช่วงต้นไตรมาสสอง

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมสูงเกินคาด ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่ปิดโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ตามศักยภาพและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินยังมีอยู่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ในทางกลับกัน ธปท.ระบุว่าโอกาสปรับลดดอกเบี้ยเป็นไปได้น้อยถ้าไม่เกิดช็อกต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ท่าทีเช่นนี้สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่า กนง.มีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ตลอดทั้งปี 2562

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์เติบโตต่อเนื่องจากแรงส่งของการบริโภคภาคเอกชน แต่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงตามการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ด้านภาคการท่องเที่ยวทรงตัวเทียบปีต่อปี ขณะที่การส่งออกยังหดตัวต่อเนื่องตามตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ