พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาในการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน (High Level Regional Conference – Synchronizing Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025) ภายใต้หัวข้อ "การประสานแผนการค้าและความมั่นคงเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025" ประจำปี 2562 เพื่อหาแนวทางส่งเสริมบูรณาการ ระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติด้านความมั่นคง ที่สอดคล้องกับเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศอาเซียนที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ อาชญากรรมข้ามชาติในปัจจุบันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาค ตลอดจนความนิยมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น โดยหากไม่มีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่มีความซับซ้อน และส่งผลกระทบอย่างรอบด้าน และอย่างกว้างขวาง
"ไทยเห็นว่าอาเซียนควรร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะพัฒนากรอบความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อป้องกันภูมิภาคจากภัยคุกคามที่มาจากอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนให้เกิดการไหลเวียนของการค้า การลงทุน และประชาชนข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ และนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ใน 3 ประเด็น คือ 1. การแลกเปลี่ยนข่าวสารและข่าวกรองระหว่าง UNODC และ กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันสกัดกั้นภัยคุกคามร้ายแรงที่บันทอนสังคมและประชาชนของพวกเรา และมีส่วนเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
2. ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและความท้าทายข้ามพรมแดนต่างๆ อย่างเป็นระบบ และ 3. การส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาค ลดต้นตอของปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติและส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมหุ้นส่วนในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SGDs Partnership)
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ที่ประชุมควรจะมีการหารือในมิติของกรอบการใช้กฎหมายและการเพิ่มขีดความสามารถเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมด้วย โดยไทยจะนำผลการประชุมในครั้งนี้ ไปขยายผลเพื่อเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติและการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (AMMTC) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ หากอาเซียนสามารถมีฉันทามติได้ในเรื่องนี้ก็จะนำเสนอต่อให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 พิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ต่อไปด้วย
"การประชุมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างกว้างขวาง และขยายผลพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต"นายกรัฐมนตรี กล่าว