นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม ได้รับทราบทิศทางเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียนในปี 62 ว่ายังสามารถขยายตัวได้ดี แม้จะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการค้าโลกชะลอตัวลง และจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
โดยที่ประชุมฯ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามควรจะมีการเตรียมพร้อมรองรับต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้น และดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อช่วยในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนทั้งในปีนี้และปีหน้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบร่วมกันในการปรับปรุงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุพาคี (Chiang Mai Initiative Mutilateralisation: CMIM) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้มานานตั้งแต่ปี 2550 โดยจากเดิมในส่วนของการจัดตั้งกองทุน CMIM เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนสำหรับการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้นนั้น ได้กำหนดให้การใส่เงินสมทบจะเป็นเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ล่าสุดที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการที่จะให้สามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นมาสมทบในกองทุน CMIM ได้ ซึ่งเบื้องต้นมองว่าสกุลเงินที่อาจจะนำมาใช้ในช่วงแรก คือ เงินหยวน และเงินเยน
"เดิม CMIM เราใช้สมทบเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เรามีแนวโน้มจะผลักดันและเพิ่มบทบาทของสกุลเงินท้องถิ่นให้มากขึ้น" นายลวรณ ระบุ
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบร่างแผนงานระยะปานกลางของแผนการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (ASEAN Bond Market Initiative ABMI) สำหรับปี 2562-2565 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เน้นการออกพันธบัตรสกุลท้องถิ่น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพันธบัตรในภูมิภาคอาเซียน
"เราได้ review แผนโรดแมพ โดยจะเพิ่มบทบาทของ ABMI ในเรื่องที่จะโฟกัสมากขึ้น เช่น ABMI สามารถจะสนับสนุนการลงทุนหรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้" นายลวรณ กล่าว