นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดภาพรวมของไม้ผลภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดในปีนี้จะมีผลผลิตรวมประมาณ 712,002 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลผลิต 529,385 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 35.20% โดยแยกเป็นผลผลิตภาคใต้ตอนบน จำนวน 542,797 ตัน (คิดเป็น 76.24% ของผลผลิตทั้งภาคใต้) และผลผลิตภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 169,205 ตัน (คิดเป็น 23.76% ของผลผลิตทั้งภาคใต้) ทั้งนี้ คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ จะมีการประชุมพิจารณาร่วมกันอีกประมาณ 2 ครั้ง และจะได้ข้อสรุปเป็นข้อมูลเอกภาพประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่ง สศก. จะรายงานให้ทราบต่อไป
ในส่วนของไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ประมาณการไม้ผลในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต (ข้อมูล ณ 19 มี.ค. 2562) พบว่า ผลผลิตในภาพรวม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนมีจำนวน 542,797 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 396,168 ตัน (เพิ่มขึ้น 146,629 ตัน หรือ 37.01%) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปี กอปรกับราคาไม้ผลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยเฉพาะทุเรียน เกษตรกรจึงเอาใจใส่ดูแลสวนผลไม้มากขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่ของทั้ง 4 ชนิดพืช มีทิศทางเพิ่มขึ้น เพราะสภาพต้นสมบูรณ์ พร้อมต่อการออกดอกติดผล ส่งผลให้ไม้ผลออกดอก ติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อจำแนกปริมาณไม้ผลแต่ละชนิดของภาคใต้ตอนบน พบว่า
ทุเรียน ภาคใต้ตอนบน มีเนื้อที่ยืนต้น 369,913 ไร่ เพิ่มขึ้น 6.37% จากปี 2561 เนื้อที่ให้ผล 283,395 ไร่ เพิ่มขึ้น 10.26% ผลผลิตรวม 338,270 ตัน เพิ่มขึ้น 41.94% ผลผลิตเฉลี่ย 1,194 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 28.80%
มังคุด เนื้อที่ยืนต้น 190,621 ไร่ เพิ่มขึ้น 0.23% จากปี 2561เนื้อที่ให้ผล 181,681 ไร่ เพิ่มขึ้น 5.71% ผลผลิตรวม 129,022 ตัน เพิ่มขึ้น 52.61% ผลผลิตเฉลี่ย 710 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 44.31%
เงาะ เนื้อที่ยืนต้น 47,973 ไร่ ลดลง 9.53% จากปี 2561 เนื้อที่ให้ผล 46,667 ไร่ ลดลง 10.27% ผลผลิตรวม 50,360 ตัน ลดลง 1.95% ผลผลิตเฉลี่ย 1,079 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 9.21% ทั้งนี้ เนื้อที่ให้ผลเงาะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มังคุด ส่งผลให้ผลผลิตลดลง
ลองกอง เนื้อที่ยืนต้น 57,443 ไร่ ลดลง 22.77% จากปี 2561 เนื้อที่ให้ผล 56,121 ไร่ ลดลง 22.33% ผลผลิตรวม 25,145 ตัน เพิ่มขึ้น 14.61% ผลผลิต 448 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 47.37% อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อที่ให้ผลลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่วงแล้งที่เหมาะสมให้ลองกองออกดอก มากกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ผลผลิตปีนี้เพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายชาญชัย ศศิธร ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวว่า ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และออกมากสุดในเดือนสิงหาคม ซึ่ง สศท.8 จะได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งช่วงกลางเดือนเมษายนถึงปลายเดือนเดือนมิถุนายน เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยแนวทางบริหารจัดการผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปีนี้ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเพื่อติดตามสถานการณ์ไม้ผลในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ