นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะหารือกับผู้ผลิตไบโอดีเซล (B100) ถึงการทำให้ B100 มีความบริสุทธิ์มากขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับรถยนต์ หากมีการเติม B100 เป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 10% หรือ B10 จากปัจจุบันที่มีการใช้ผสมในน้ำมันดีเซลสัดส่วน 7% หรือ B7 โดยหากผู้ผลิตสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ กระทรวงพลังงานจะประกาศมาตรฐานน้ำมัน B10 เป็นมาตรการถาวรได้ภายในเดือนเม.ย. แทนการใช้ B7
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะหารือร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) , กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รวมถึงสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดให้ประเทศไทยใช้มาตรฐาน B10 หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทาง JAMA ยืนยันว่ารถยนต์ในไทยที่ผ่านการตรวจสอบแล้วสามารถใช้ B10 ได้ แต่ยังมีข้อกังวลคุณสมบัติ B100 ที่ต้องมีความบริสุทธิ์มากขึ้น ด้วยการลดกลีเซอรีนลง เพื่อป้องกันผลกระทบกรณีน้ำมันเป็นไขเมื่อเผชิญกับอากาศเย็น
หากมีการใช้ B10 ทดแทน B7 ก็คาดว่าจะทำให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มขึ้น 5-6 แสนตัน/ปี ผลักดันให้ภาพรวมของการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 2.5 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านตัน/ปี เมื่อรวมกับปริมาณ 1.6 แสนตัน ที่นำไปใช้ในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จะทำให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบภาคพลังงานรวมทั้งหมดประมาณ 2.66 ล้านตัน/ปี จากกำลังผลิตน้ำมันปาล์มดิบทั้งประเทศในปี 62 ที่ 3 ล้านตัน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะช่วยปรับสมดุลสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของประเทศได้ และช่วยให้ราคาผลปาล์มสดขยับขึ้นเป็น 3 บาท/กิโลกรัม จากปัจจุบันราคายังอยู่ระดับเฉลี่ย 2.60 บาท/กิโลกรัม
สำหรับความคืบหน้าการประกาศใช้น้ำมัน B20 ในกลุ่มรถกระบะนั้น ในสัปดาห์หน้ากรมธุรกิจพลังงานจะประกาศรุ่นรถกระบะที่สามารถใช้น้ำมัน B20ได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น
"หากใช้มาตรการทั้งหมดแล้วราคาผลปาล์มสดยังไม่สามารถขยับขึ้นได้ก็ต้องกลับมาดูสาเหตุกลไกการตลาดใหม่"นายศิริ กล่าว