แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการควบรวมธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เนื่องจากทั้ง 2 สถาบันมีภารกิจด้านการเงินเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยคล้ายกัน ซึ่งระยะเวลาการควบรวมจะทำให้เสร็จโดยเร็วไม่น่าจะเกินปีนี้ โดยจะนำ บตท.เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ธอส.และยุบ บตท.ทิ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรูปแบบการควบรวมจะมีการโอนทั้ง สินทรัพย์ หนี้ ภาระผูกพัน พนักงานประจำ ลูกหนี้ แต่ลูกหนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวม โดยยังได้รับเงื่อนไขเดิม
สำหรับขั้นตอนการควบรวมขณะนี้อยู่ระหว่างการออกร่างกฎหมายเพื่อควบรวมกิจการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งได้สรุปการเปิดรับฟังความเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ ขณะเดียวกันจะต้องแก้ไขกฎหมายของทั้ง ธอส. และบตท. เพื่อรองรับการควบรวม เนื่องจากทั้ง 2 สถาบันการเงินมีพ.ร.บ.เป็นของตัวเอง
โดยสาระสำคัญของกฎหมายการควบรวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น มีการกำหนดการโอนกิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน เป็นต้น การเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับสถาบันการเงินที่ได้รับโอน การยกเว้นค่าธรรมเนียม จากการโอนหรือเปลี่ยนแปลง รายการทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหลักประกันที่ได้รับโอน การยกเว้นภาษีที่เกิดขึ้นจากการกระบวนการควบรวม
"การควบรวมครั้งนี้ ธอส.จะเป็นแกน เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร ไม่ใช่ควบรวมเพื่อแก้ปัญหา เพราะตัว บตท.แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็ยังมีกำไรอยู่ปีล่าสุด 102 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 18,972 ล้านบาท แต่ด้วยภารกิจที่มีจำกัดโอกาสเติบโตคงน้อย จึงน่าจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธอส.มากกว่า"
ทั้งนี้ ข้อดีในการควบรวมจะช่วยให้ธอส.มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดรองสินเชื่อเพิ่มขึ้นแบบครบวงจร แต่ก็มีข้อเสียที่อาจทำให้ ธอส.มีต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ และมีภาระต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจาก บตท.ด้วย โดยเฉพาะขณะนี้ ธอส.อยู่ระหว่างทดลองทำมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน (IFRS9) ซึ่งกำหนดให้มีการกันสำรองสำหรับความเสี่ยงตลอดอายุของสินทรัพย์จึงอาจทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการควบรวมจะมีแค่ 2 สถาบันการเงินนี้เท่านั้น ไม่ได้มี ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือสถาบันการเงินรัฐแห่งอื่นรวมอยู่