ธปท.เผยอาเซียนหนุนผู้ประกอบการใช้สกุลเงินท้องถิ่นลดความผันผวนจากค่าเงินสกุลหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2019 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการส่งเสริมการชำระเงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย, ธนาคารกลางมาเลเซีย, ธนาคารฟิลิปปินส์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการลงนามระหว่างกันในด้านการส่งเสริมการชำระเงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย

1) ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และ ธปท.ตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการขยาย ขอบเขตการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น

2) การลงนามในหนังสือแสดงเจตจานงการจัดตั้งกลไกชำระเงินเปโซ และรูเปีย ระหว่างผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย

3) การลงนามในหนังสือแสดงเจตจานงการจัดตั้งกลไกชำระเงินเปโซ และริงกิต ระหว่างผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย

4) การลงนามในหนังสือแสดงเจตจานงการจัดตั้งกลไกชำระเงินเปโซ และบาท ระหว่างผู้ว่าการธนาคาร กลางฟิลิปปินส์ และผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย

นางอลิศรา กล่าวว่า การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นร่วมกับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการชำระเงินสกุลท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน และความสนใจร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศที่จะจัดตั้งกลไกดังกล่าว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกธุรกรรมทางการค้าและการลงทุน ระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์ผ่านการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งจะมีทางเลือกในการใช้เงินสกุลในการชำระธุรกรรมการค้าหลากหลายมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาการใช้เงินสกุลหลักในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน อีกทั้งยังจะช่วยสนับสนุนให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาตลาดการเงิน และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

"การค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมีความสำคัญมากขึ้น และยังมีโอกาสและมีศักยภาพมากขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ขณะเดียวกันมีการใช้เงินสกุลหลักในการชำระเงินกันมาก และต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งเงินสกุลหลักมีความผันผวน และมีปัจจัยนอกเหนือจากปัจจัยเศรษฐกิจการเงินในภูมิภาคที่มามีผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นผู้ประกอบการจะมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมาก การทำให้มีความเสี่ยงน้อยลง หรือลดต้นทุนในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ นั่นคือการหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อให้ความเสี่ยงจากความเคลื่อนไหวของเงินสกุลหลักลดลงไป" ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

สำหรับความร่วมมือกับธนาคารกลางเมียนมานั้น นางอลิศรา กล่าวว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมาจะร่วมมือกับ ธปท.ในการพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมให้มีการใช้เงินบาทและเงินจ๊าดสำหรับการทำธุรกรรมในการค้าขายชายแดนด้วย ซึ่งจะได้เห็นความร่วมมือนี้เป็นรูปธรรมที่มากขึ้นในอนาคต

นางอลิศรา กล่าวด้วยว่า การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีการค้าระหว่างประเทศในระดับที่กว้างขวาง ได้แสดงความสนใจที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้ประกอบการเอง รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นนั้น จึงทำให้เห็นแนวโน้มการใช้เงินสกุลท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้นตาม ซึ่งในส่วนของธนาคารกลางแต่ละประเทศเองจำเป็นต้องเข้าไปดูเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งการดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ของแต่ละประเทศเองสามารถให้ข้อมูลและให้ความรู้ต่อผู้ประกอบการที่ถูกต้องในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นต่อการทำการค้าชายแดนให้มากขึ้น

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ค่าเงินยังมีความผันผวนอยู่นั้น ธปท.ยังมีเครื่องมืออย่างเพียงพอที่จะใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อทดแทนการใช้สกุลเงินหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ