นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (SCBEIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า สิ้นปี 62 เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปีก่อน โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะชะลอลง การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ผ่อนคลายขึ้น สงครามการค้าที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงต่อไป และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะยังเกินดุลในระดับสูง ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า เงินบาทจะอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแล้วความสัมพันธ์ของเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นก็มีผลเช่นกัน โดยเงินหยวนที่เคยปรับอ่อนค่าลงมากในช่วงครึ่งแรกของปี 61 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าตามเป็นบางช่วงเช่นกัน อย่างไรก็ดีเงินหยวนปรับแข็งค่าขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 61 หลังสงครามการค้ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นและภาครัฐของจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับดีขึ้นเงินหยวนจึงแข็งค่า แรงกดดันที่เคยทำให้เงินบาทอ่อนค่าจึงมีน้อยลงตามไปด้วย
"สำหรับปัจจัยเรื่องค่าเงินหยวนนั้น อีไอซีมองว่า เงินหยวนอาจแข็งค่าต่อไปได้หากสงครามการค้าคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี 62 เนื่องจากเริ่มมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ และในระยะต่อไปทรัมป์ก็น่าจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นต่อไปเพื่อต้องการปรับท่าทีทางการเมืองไปสู่การเลือกตั้งในปี 63 โดยเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะเป็นปัจจัยเสริมการแข็งค่าของเงินบาทได้"
สำหรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยความผันผวนที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงลง (risk-off sentiment) จึงมีความต้องการถือสินทรัพย์และค่าเงินที่มีความปลอดภัยหรือมีเสถียรภาพสูง เงินบาทจึงเป็นที่ต้องการในช่วงที่ผ่านมา โดยการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมีทิศทางสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินเยนและราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งสินทรัพย์ทั้งสองต่างก็เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven assets) ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ หากดูความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะพบว่ามีความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกัน (correlation เป็นลบ) กล่าวคือ ในยามที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลงและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเกิดเป็น risk-off sentiment ค่าเงินเยนจะปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งพบว่าความสัมพันธ์นี้กลับมาชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจัยในประเทศทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูง การขายทองคำเพื่อทำกำไร การที่บริษัทใหญ่นำเงินลงทุนจากต่างประเทศกลับไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้น ก็ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ในเดือนธันวาคม 2018 พบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา (3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับเข้ามาไทยสูงขึ้นมากและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลง
นอกจากนี้ราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้นักลงทุนทองคำในไทยบางส่วนขายทองคำในรูปสกุลเงินดอลลาร์และแลกเป็นเงินบาทเพื่อทำกำไร อีกทั้งยังมีปัจจัยเฉพาะระยะสั้นคือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งได้นำเงินลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามายังไทยเพื่อจ่ายเงินปันผล จึงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ และซื้อเงินบาทเป็นจำนวนมาก
"ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้มีความต้องการเงินบาทที่สูงในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อการแข็งค่าของเงินบาทนั้น อีไอซีประเมินว่า มีผลกระทบอยู่บ้างแต่ในวงจำกัด เนื่องจากการศึกษาบ่งชี้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีผลต่อค่าเงินบาทค่อนข้างน้อย และถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับสูงขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.45% ซึ่งยังคงใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐฯ ที่มีค่าราว 0.25%"
โดยเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเคยแข็งค่าแตะระดับ 31.1 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปี ส่วนดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอยู่ที่ 121 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2540 อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับอ่อนค่าลงมาหลังจากนั้นและล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 31.6-31.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้างด้านอัตราเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำก็ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะปานกลางถึงยาว กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อไทยที่ระดับประมาณ 1% ในปีที่ผ่านมาอยู่ต่ำกว่าเงินเฟ้อของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาครวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาวได้ โดยอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่เงินเฟ้อต่ำจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเพื่อทำให้ราคาสินค้าที่แท้จริงปรับเข้าใกล้ราคาสินค้าที่แท้จริงในประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า (ตามกฎ purchasing power parity ที่กล่าวว่าราคาสินค้าในแต่ละประเทศหลังจากคำนึงอัตราเงินเฟ้อด้วยแล้วจะต้องมีมูลค่าเท่ากัน) ดังนั้นการที่เงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ผลักดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว
อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะยังเกินดุลในระดับสูงและภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะปรับดีขึ้นตามความไม่แน่นอนที่อาจปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินบาทได้ โดยในปี 62 นี้ SCB EIC ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) จะยังคงเกินดุลในระดับสูงที่ประมาณ 6.60% ต่อ GDP จากแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกไทยและการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ตลาดทุนของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลังความเชื่อมั่นมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (risk-on sentiment) และ valuation ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตซึ่งสังเกตุได้จาก P/E ratio ตลาดหุ้นไทยจึงน่าจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ SCB EIC จึงประเมินว่า ดุลการชำระเงิน (balance of payment) ของไทย (ซึ่งมี current account และ financial account เป็นส่วนสำคัญ) มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้ ซึ่งจากความสัมพันธ์ในอดีตพบว่า ในเวลาที่ดุลการชำระเงินของไทยปรับเพิ่มขึ้นค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมีความต้องการเงินบาทสูงขึ้นจากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ SCB EIC ประเมินว่าหากความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยและสงครามการค้าคลี่คลายลงซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้มากในช่วงครึ่งหลังของปีก็จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ ทำให้การลงทุนและการส่งออกไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาทเพิ่มเติม โดย SCB EIC พบความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย (ซึ่งสะท้อนจากการปรับคาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทย) และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา โดยในช่วงที่ผู้ร่วมตลาดมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นโดยเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะปรับแข็งค่าขึ้นตาม ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยน่าจะมีทิศทางปรับดีขึ้นเงินบาทก็น่าจะแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน
"ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา SCB EIC จึงประเมินว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 62 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกรอบดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเงินบาทในปีก่อนที่ประมาณ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและแข็งค่ากว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 61 ที่อยู่ที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน"
เหตุที่เงินบาทอาจปรับแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นมาจากการที่หลาย ๆ ธนาคารกลางมีแนวโน้มดำเนินนโยบายอย่างผ่อนปรนขึ้น (dovish) ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะการเงินโลกและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ชะลอลงมาก ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่แม้จะยังคงขยายตัวในระดับดีแต่ก็ยังคงเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากปีก่อน ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทจึงไม่เข้มข้นมากนัก
อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าได้หาก Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลน้อยกว่าคาด หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยยืดเยื้อ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นกว่าที่ประเมินไว้คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวได้มากกว่าคาด หรืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 2% ทำให้ Fed สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ภายในปีนี้, การที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นส่งสัญญาณหรือดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น (dovish) กว่าสหรัฐฯ ซึ่งตัวอย่างที่สะท้อนภาวะนี้ได้คือเหตุการณ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่เราเห็นทั้ง ECB และ BOJ ส่งสัญญาณ dovish ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น, ความกังวลที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงมากกว่าคาดและมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่ปลายหาง (tail risk) สูงขึ้น ซึ่งในสภาพแวดล้อมนี้เงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นจากสถานะที่เป็นสกุลเงินหลักของโลก และผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยง (สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้น) ในหลาย ๆ ประเทศจะปรับลดลง
นอกจากนี้เงินบาทอาจอ่อนค่าได้จากปัจจัยในประเทศ คือ 1)ดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจเกินดุลลดลงหากมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นมาก เพื่อมาสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และ 2) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่หากยังคงยืดเยื้อก็จะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่นำเงินเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของไทยตามสถานะ regional safe haven ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้ในระยะต่อไป
สำหรับผลกระทบของเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้น SCB EIC ประเมินว่า แม้เงินบาทจะผันผวนหรือแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่ผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกไทยยังคงจำกัด เนื่องจากการศึกษาของ SCB EIC พบว่า ปัจจัยด้านรายได้ของประเทศคู่ค้าส่งผลต่อการส่งออกไทยมากกว่าปัจจัยด้านราคา กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกไทยขึ้นอยู่กับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกเป็นสำคัญ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย (real effective exchange rate: REER) ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกเพียงเล็กน้อย โดยพบว่า หาก REER ของไทยแข็งค่าขึ้น 1% จะทำให้ปริมาณการส่งออกไทยลดลงเพียง 0.24% แต่หากเศรษฐกิจโลก (world GDP) ชะลอลง 1% จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไทยลดลงถึง 0.8% นอกจากนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะมีผลต่อสภาพคล่องของผู้ส่งออกเพราะรายได้ของผู้ส่งออกในรูปเงินบาทจะลดน้อยลง
"ผลกระทบของค่าเงินที่แข็งค่าต่อปริมาณการส่งออกไทยยังคงจำกัด เพราะการส่งออกไทยโดยรวมแล้วยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคได้"