ที่ประชุมรมว.คลัง-ผู้ว่าการธนาคารกลาง-สภาธุรกิจ EU คาดศก.อาเซียนปี 62 ขยายตัว 4.9% ก่อนขยับเป็น 5% ในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2019 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม รมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ร่วมกับคณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council : EU-ABC) ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2562 ว่าจะขยายตัวได้ 4.9% ส่วนในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 5% โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความเสี่ยงและความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้หารือถึงแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้า เพื่อรักษาการเติบโตให้ยั่งยืน โดยเห็นว่าต้องมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านศุลกากร เช่น การปรับเกณฑ์ด้านการค้าและกระบวนการด้านศุลกากรระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน, การส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในตลาด เช่น การปรับปรุงขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจให้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริม e-Commerce และการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต รวมทั้งลดกำแพงภาษีที่ไม่ใช่ภาษีนำเข้า

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังร่วมหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาและนำแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวของอาเซียนมาใช้ 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอาเซียน 3.ส่งเสริมให้เกิดตลาดการบินในอาเซียนที่เป็นตลาดเดียวกัน (AESAN Single Aviation Market) 4.อำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว เช่น ให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว 5.พัฒนาความสามารถของบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน และ 5.การออกกฎเกณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ มีความเห็นจากธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์ความยากจนดีขึ้นมาก โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ประชากร 57% ของอาเซียนถือว่ามีความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ หรือเป็นชนชั้นกลางแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความท้าทายของการพัฒนาในอาเซียน ได้แก่ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ GDP การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและทุนมนุษย์ของประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ธนาคารโลกจึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน ใน 4 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.การสร้างทุนมนุษย์ 3.การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 4.การใช้จ่ายให้ดีขึ้น ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และธนาคารโลกร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ