BBL เปิดตัวสินเชื่อเครื่องจักรเพื่อธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ หนุนเอสเอ็มอี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2008 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายกลางนครหลวง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ ‘บัวหลวง SMEs — สินเชื่อเครื่องจักรเพื่อธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์’ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการซื้อเครื่องจักรใหม่สำหรับใช้ในการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ ด้วยเงินกู้ Mortgage Loan ที่มอบวงเงินให้กู้สูงสุด 100% ของราคาซื้อขายเครื่องจักรทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ต่อปีตลอดอายุสัญญากู้เงิน (ณ วันที่ 30 มกราคม 2551 เอ็มแอลอาร์ เท่ากับ 6.875%) ระยะเวลาการกู้สูงสุด 5 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยธนาคารได้เตรียมวงเงินในเบื้องต้นไว้จำนวน 1,000 ล้านบาทสำหรับรองรับความต้องการของลูกค้าที่สนใจยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2551 
ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเครื่องจักรเพื่อธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์นี้ นับเป็นกลยุทธ์ด้านการให้บริการแก่ลูกค้าด้วยการมุ่งเน้นการเข้าถึงลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง โดยธนาคารมีบุคคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจในแต่ละอุตสาหกรรมที่สามารถให้คำปรึกษาด้านแหล่งเงินทุนที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน
"ด้วยภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง มีมูลค่าการส่งออกของผู้ผลิตในประเทศไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20-30% โดยยอดการผลิตและยอดขายรถยนต์ในประเทศไทย รวมทั้งยอดการส่งออกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ดี โดยในปี 2550 ประมาณการว่ามียอดผลิตในประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านคัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.45 ล้านคันในปี 2551 และ 1.7 ล้านคันในปี 2552 จนไปถึง 2 ล้านคันในปี 2554 ดังนั้น เมื่อ อุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ (Auto maker) มีการขยายกำลังการผลิต อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมีอัตราการขยายตัวตามความต้องการของตลาดรถยนต์รวม’
นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ยังได้รับมาตรการการสนับสนุนและส่งเสริมจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงทางด้านการค้า ภาษีระหว่างประเทศ แผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะที่ 2 ที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น แผนส่งเสริมการลงทุนในรถอีโคคาร์ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตเหลือเพียง 17% จากเดิม 30-50% โดยทั้งหมดจะเป็นการลงทุนในเครื่องจักรคิดเป็น 50% ของมูลค่าการลงทุนรวม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศหลายรายกำลังขยายกำลังการผลิตและออกรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อรองรับสายการผลิตของรถยนต์ใหม่ในแต่ละรุ่นเช่นกัน
ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2543จนถึงปัจจุบัน ธนาคารได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SMEs ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อรวมใจพัฒนา SMEs สินเชื่อเงินกู้บัวหลวงเพื่อ SMEs การร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐในโครงการสินเชื่อ Energy Saving และ Machine Fund ซึ่งล้วนได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ