น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทน รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ตามที่ปรากฎข่าวว่ามีผู้ที่มีเจตนาไม่สุจริตแอบซ่อนเร้นรับผลประโยชน์จากนโยบายการเร่งดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 160,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า กับมาตรการล่าสุดที่ บมจ.ปตท.(PTT) จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 100,000 ตัน ไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซลนั้น ยืนยันว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ คำนึงถึงความถูกต้องโปร่งใส และให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด
พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนการทำงานด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม รวมทั้งมีการรณรงค์เรื่อง Zero Corruption ที่จริงจังต่อเนื่อง และมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดถือปฏิบัติและดำเนินการอย่างเคร่งครัด จึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจในการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์
"ไม่มีไอ้โม่งในกระบวนการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ที่ได้รับผลประโยชน์แน่นอน" รมช.พาณิชย์กล่าว
อนึ่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย.61 มอบหน้าที่ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงพลังงานในการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จำนวน 160,000 ตัน และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (เฉพาะกิจ) เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการ โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานอนุกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมเป็นอนุกรรมการ กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินการเพื่อเป็นกรอบแนวทางดำเนินมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. และกำกับดูแลการดำเนินการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เสนอ ครม.เห็นชอบให้ กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 18 บาท ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยให้ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบต้องรับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในราคา กก.ละ 3.20 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด โดยในทางปฏิบัติคณะทำงานฯ ระดับภาคจะเป็นผู้ติดตามกำกับดูแลการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไข กฟผ. ก็จะไม่จ่ายเงินค่าน้ำมันปาล์มดิบ 10% ของค่าน้ำมันปาล์มดิบที่ส่งมอบ
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะมีผลต่อเกษตรกรที่ขายผลปาล์มน้ำมันให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งในระยะแรกมีโรงงานสกัดฯ สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการน้อยราย จึงต้องขยายเวลารับสมัครถึง 5 ครั้ง จนถึงเดือนมีนาคม 2562
เนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ต้องทยอยขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งมีคลังเก็บได้ไม่มาก กฟผ. จึงรับน้ำมันได้เพียงวันละ 2,000 ตัน และรับได้เพียงวันเว้นวัน จึงมีผลให้ราคาตลาดไม่สามารถขยับขึ้นได้ เพราะยังมีน้ำมันในสต็อกของโรงสกัดฯ และปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่ออกมากกว่าปกติ
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ จึงเสนอที่ประชุม กนป. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.62 โดยความเห็นชอบของ ครม.เมื่อวันที่ 19 มี.คง62 ให้ กฟผ. เพิ่มอัตราการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิมวันละ 1,000 ตัน เป็นวันละ 1,500 ตัน และให้ กฟผ. รับมอบน้ำมันปาล์มดิบตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือทั้งหมดจัดเก็บที่คลังรับฝากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและฉะเชิงเทรา จากกำหนดเดิมในเดือนกรกฎาคม 2562 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2562 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน
ปัจจุบัน กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้วรวม 68,000 ตัน คงเหลืออีกจำนวน 92,000 ตัน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการขนส่งไปยังท่าเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง และการจัดเก็บรอในคลัง ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันปาล์มดิบ และคลังจัดเก็บที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมี 2 รายคือ พี.เค.มารีน อ. เมือง และโกบอลอินเตอร์ อ. ดอนสัก กรมการค้าภายในได้สอบถามราคาค่าขนส่งปรากฎว่า บริษัท พี.เค.มารีน เสนอราคาหลังต่อรองแล้วถูกกว่าอีกบริษัทมาก และมีความพร้อมเพราะมีเรือขนส่งจำนวนมากกว่า ซึ่งราคาที่เกษตรกรได้รับที่ 3.20 บาท คำนวณจากการหักค่าขนส่งจากราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ.ที่ กก.ละ 18 บาท
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ กรณีของการนำเสนอข่าวว่ามีผู้ที่มีเจตนาไม่สุจริตแอบซ่อนเร้นรับผลประโยชน์จากนโยบาย/มาตรการของภาครัฐก็เช่นเดียวกัน หากทุกฝ่ายช่วยกันติดตามสอดส่องพฤติกรรมดังกล่าวและพบว่ามีเบาะแสที่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ควรแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกระบวนการเพื่อให้เกิดความถูกต้องต่อไป