นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร (PHATRA) แนะแนวทางรับมือผลกระทบปัญหาซับไพร์มที่จะยืดเยื้อเกินกว่า 1 ปี ด้วยการลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ พร้อมไปกับการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการเร่งให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน และยังแนะเลิกผูกบาทติดกับดอลลาร์ แต่ควรปล่อยให้บาทแข็งค่าตามธรรมชาติ เพื่อให้ช่องว่างสำหรับการปรับลดดอกเบี้ยลงกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ผลกระทบต่อประเทศไทยต้องยอมรับว่ามีผลกระทบมาก เพราะเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาสหรัฐ แต่เนื่องจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก โดยในปีที่ผ่านมาก็เกินดุลถึง 6% ของจีดีพี ไทยจึงสามารถชดเชยภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากภายนอกได้"นายศุภวุฒิ กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง "จับตาเศรษฐกิจโลก หลังวิกฤตซับไพร์ม"
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากซับไพร์มจะยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงเลือกตั้งประธาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลปัจจุบันแก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่อาจส่งผลร้ายในด้านวินัยการคลัง
แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย จะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้มาก แต่ปัญหาของเอเชียก็คือค่าเงินยังผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐมากเกินไป ทางที่ถูกแบงก์กลางควรปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศขณะนี้ และยังช่วยเปิดช่องทางให้มีการลดดอกเบี้ยภายในประเทศได้ง่ายขึ้นด้วย
"ถ้าแบงก์ชาติปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าตามธรรมชาติ เงินเฟ้อก็จะลดลง การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติก็จะสามารถทำได้ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วย เพราะการที่เงินบาทแข็งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อไปในตัว"นายศุภวุฒิ กล่าว
ในส่วนของผู้ส่งออกอาจประสบปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าบ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า แต่ภาครัฐสามารถช่วยเหลือได้ โดยการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อให้สามารถทำงานในสาขาอื่นได้
"เรื่องแรงงานก็ถือว่าน่าห่วง แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ แล้วปล่อยให้เงินบาทอ่อน เราจะคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน และคนที่ต้องพึ่งพาเงินออมอย่างผู้เกษียณอายุ ปัญหาเงินเฟ้อจึงน่ากลัวมากกว่าเงินบาทแข็งเยอะเลย" นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินมากกว่าการแก้ปัญหาราคาสินค้า เพราะถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ปรับขึ้นราคา ผู้ผลิตอาจผลิตสินค้าลดลงหรือเกิดการกักตุนสินค้า ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน และเมื่อผู้ประกอบการมีกำไรลดลง ราคาหุ้นก็มีโอกาสลดลงด้วยเช่นกัน
และที่สำคัญถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแบบนี้ในระยะยาว ก็จะไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เพราะกำไรของผู้ประกอบการถูกกดโดยนโยบายรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจซึมยาว
สำหรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเพื่อชดเชยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ควรเร่งให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตของไทยใช้ไปมากแล้ว
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มที่จะมีต่อตลาดหุ้น บริษัท เมอร์ริล ลินช์ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในเอเชียมีศักยภาพที่จะพยุงตัวต่อไปได้ หากเอเชียดำเนินตามแนวทางที่ถูกต้องเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็จะเดินต่อไปได้ แต่ในขณะนี้ยอมรับว่าภาพของตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงมีการขายหุ้นออกมาเป็นระลอกเพื่อลดความเสี่ยงจากการถือหุ้นทั่วโลก
แต่ตลาดหุ้นไทยถือว่ายังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ไม่มีปัญหาหนี้เสียเช่นเดียวกับสหรัฐ ขณะเดียวกันภาพทางการเมืองก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เหลือก็แต่เพียงนโยบายรัฐบาลที่จะประกาศออกมา ซึ่งหากนโยบายออกมาสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ เราก็จะเดินหน้าต่อไปได้ โดยหุ้นที่คาดว่าจะมีศักยภาพเติบโตได้ดีในปีนี้ คือ หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และธนาคาร
ขณะที่การออกลงทุนในต่างประเทศ แนะนำว่าในหลักการแล้วนักลงทุนควรมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ให้มุ่งเน้นลงทุนในเอเชียเป็นหลัก โดยดูจากดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะประเทศใดขาดดุลมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ด้วย อย่างเช่น ในตะวันออกกลาง แม้จะมีความร่ำรวย แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนด้านการเมือง
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/อภิญญา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--