นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้านั้นครอบคลุมร่างข้อบทว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) ร่างข้อบทว่าด้วยระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedure: OCP) และกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) ถือเป็นหนึ่งในข้อบทสำคัญของการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP เนื่องจากเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขของสินค้าที่จะสามารถรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP ได้ รวมถึงวิธีการขั้นตอนในการขอรับสิทธิประโยชน์ฯ
โดยผลการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าระหว่างรอบที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า (Accumulation) โดยจะอนุญาตให้วัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศสมาชิกภาคีที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกเป็นวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดสินค้าในประ­­เทศที่ทำการผลิตสินค้า ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญและมีผลต่อการบูรณาการการค้าและการผลิตภายในภูมิภาค ส่งผลให้โอกาสที่สินค้าซึ่งผลิตจากวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศสมาชิกภาคี RCEP ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้ามากขึ้น ทำให้การอนุญาตการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นการสนับสนุนการค้าวัตถุดิบระหว่างประเทศสมาชิกภาคี รวมถึงสอดคล้องกับรูปแบบการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ ตามความชำนาญเฉพาะด้าน
นายอดุลย์ กล่าวว่า กรมฯ เห็นถึงความสำคัญของการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตภายในภาคีสมาชิก และกระตุ้นให้เกิดการใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิกภาคี แทนที่จะนำเข้าจากนอกภาคี เป็นการสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าที่นำไปใช้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรที่ได้รับ และสิทธิในการนำสินค้าที่ซื้อจากไทยไปสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกภาคีอื่น ๆ
"กรมฯ ได้กำหนดกรอบการเจรจา และเจรจาผลักดันให้มีการบรรจุข้อบทว่าด้วยการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าไว้ในกฎถิ่นกำเนิดสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจา สำหรับประเด็นที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาทิ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Self-Certification by Approved Exporter) เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Proof of Origin) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยประเทศคนกลาง (Back-to-Back CO) หรือใบกำกับราคาที่ออกโดยบุคคลที่สาม (Third Party Invoicing) กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันให้ผลลัพธ์การเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยสูงสุด โดยมุ่งเน้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนธุรกรรมในการใช้สิทธิประโยชน์ และสอดคล้องกับรูปแบบการค้าการผลิตของผูประกอบการไทย" นายอดุลย์กล่าว