นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) กับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.62 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ อาทิ ความคืบหน้าการปฏิบัติตามความตกลงเอฟทีเอ ระหว่างอาเซียน 3 ประเทศ นับตั้งแต่มีผลใช้บังคับ (อาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี 2548, อาเซียน-ญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2552 และอาเซียน-เกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2553) การพิจารณาเปิดเสรีเพิ่มเติมจากความตกลงเอฟทีเอปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าที่ยังไม่ได้ลดภาษีระหว่างกัน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ 3 ประเทศ
นางอรมน กล่าวว่า ในการประชุมระหว่างอาเซียนกับจีน ฝ่ายอาเซียนได้ขอให้จีนพิจารณาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมจากเอฟทีเอปัจจุบัน ที่ประชุมยังเห็นพ้องที่จะเริ่มใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rule: PSR) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันปรับปรุงให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตสินค้าในปัจจุบันภายในกลางปีนี้ เพื่อให้สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในอาเซียนและจีนได้รับสิทธิประโยชน์จากการลด/ยกเลิกภาษีภายใต้เอฟทีเอมากขึ้น รวมทั้งเห็นว่าจีนอาจเพิ่มความร่วมมือกับอาเซียนด้านการส่งเสริมดิจิทัลแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูลในวงกว้างและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ การประชุมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันให้ความตกลงการค้าบริการและลงทุนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นที่ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 2 มี.ค.62 มีผลใช้บังคับภายในเดือนก.ย.ปีนี้ ซึ่งในความตกลง ญี่ปุ่นได้เปิดให้ไทยเข้าไปลงทุนในสาขาบริการใหม่ๆ เช่น บริการโฆษณา บริการร้านอาหาร บริการจัดการประชุมบริการจัดทัวร์และนำเที่ยว และบริการสปา เป็นต้น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้เสนอจะช่วยเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) โดยอาเซียนสนใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการส่งเสริมให้ SME สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าโลกได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการประชุมระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ อาเซียนได้ขอให้เกาหลีใต้เร่งเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมจากเอฟทีเอปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายการค้า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และการก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเสนอตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-เกาหลี ด้านมาตรฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Korea Standards Cooperation Center in ASEAN) ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษในปลายปีนี้ เนื่องจากปี 2562 เป็นปีเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ ครบรอบ 30 ปี
นอกจากนี้ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับโครงการวิจัยร่วมด้านการปรับปรุงความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยลดขั้นตอนที่ติดขัด และอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียนและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2560 การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับ 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีมูลค่า 886.91 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออก 397.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 489.88 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าการค้ารายประเทศดังนี้ (1) อาเซียน-จีน มูลค่าการค้ารวมเป็น 515.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปจีน 235.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 279.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2) อาเซียน-ญี่ปุ่น การค้ารวมมีมูลค่า 217.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่น 106.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 111.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ (3) อาเซียน-เกาหลีใต้ การค้ารวมมีมูลค่า 153.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปเกาหลี 55.03 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลี 98.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ