นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำและอาจเกิดโรคระบาดที่รุนแรง ทั้งด้านการเกษตรกรรม การปศุสัตว์ และการประมง อุตสาหกรรมกุ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคระบาด ทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตอื่น ๆ อาทิเช่น โรคตับวายเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus สายพันธุ์สร้างสารพิษ (VpAHPND) โรคตัวแดงดวงขาวที่เกิดจากเชื้อไวรัส white spot syndrome virus (WSSV) นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งคือโรคขี้ขาวและโรคแคระแกร็นที่เกิดจากการติดเชื้อEnterocytozoon hepatopenaei (EHP) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมกุ้งของไทย
กรมประมง จึงได้ดำเนินโครงการ "การผลิตกุ้งปลอดโรคทั้งระบบ" เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดโรคในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นต้นทุนแฝงที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สร้างปัญหาต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในตลาดโลก เกษตรกรต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าวโดยการตรวจสอบการปลอดโรคของ "พันธุ์กุ้ง" ที่จะนำมาเลี้ยงใหม่
โครงการนี้จะแบ่งเป็น 3 กระบวนการ คือ กระบวนการที่ 1 การ Clean up : ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2562 โดยกรมประมง จะเข้าเก็บตัวอย่างพ่อแม่พันธุ์ ขี้กุ้ง ลูกกุ้ง และอาหารสด เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรคในกุ้ง พร้อมทั้งจะตรวจระบบการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ขั้นพื้นฐานในโรงเพาะและอนุบาลกุ้งทะเลและกุ้งก้ามกรามทั้งหมดจำนวน 428 แห่ง
กระบวนการที่ 2 การตรวจ Lot by lot : ดำเนินการต่อจากการ Clean up โดยกรมประมงจะตรวจสอบลูกกุ้งระยะ PL ในโรงเพาะฟักและโรงอนุบาลกุ้งทะเลและที่จะขายให้เกษตรกร ในทุกรุ่นการผลิต
กระบวนการที่ 3 การใช้ Application รายงานการเกิดโรคสัตว์น้ำแบบออนไลน์ : เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป โดยกรมประมงจะเปิดระบบการรายงานการเกิดโรคให้เจ้าหน้าที่ เกษตรกรและบุคคลทั่วไป เข้ามาใช้งานเพื่อรายงานเละตรวจสอบการเกิดโรค เมื่อพบกุ้งมีการตายผิดปกติ เจ้าหน้าที่ของกรมประมงจะเข้าไปตรวจสอบ และแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
นายอดิศร กล่าวว่า โครงการ "การผลิตกุ้งปลอดโรคทั้งระบบ"จะเป็นการเฝ้าระวังโรคและป้องกันไม่ให้มีเชื้อก่อโรคแพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่เลี้ยงกุ้ง อันจะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
"กรมประมงคาดหวังว่าการดำเนินการดังกล่าวช่วยให้ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งมีความยั่งยืน เนื่องจากโรงเพาะพันธุ์และโรงอนุบาลถือเป็นกิจกรรมต้นน้ำ การควบคุมคุณภาพที่ดี โดยให้มีการผลิตลูกกุ้งคุณภาพและปลอดจากเชื้อก่อโรค จะลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อที่มีประสิทธิภาพได้"