นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61-มี.ค.62) ว่า กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้รวม 289,638 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน (269,137 ล้านบาท) จำนวน 20,501 ล้านบาท หรือ 7.62%
สำหรับรายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้สูงสุด จำนวน 97,044 ล้านบาท 2.ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 70,811 ล้านบาท 3) ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 36,753 ล้านบาท 4) ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 34,553 ล้านบาท 5) ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 33,988 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบ เฉพาะฤดูกาลผลิต 2561/2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบ ปัจจุบัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ได้รับสิทธิ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 8, 11 และ 20 มี.ค.62 จำนวนทั้งสิ้น 12,658 ราย เป็นเงิน 112 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ยังเร่งตรวจสอบสิทธิกลุ่มเกษตรกรในส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมดวันที่ 2 เม.ย.62
สำหรับมาตรการในระยะยาว คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และ ยสท. ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนการปลูกยาสูบ หรือสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่มีความพร้อม ปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่เหมาะสม โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มฤดูการผลิตในปี 2562/2563 เพื่อให้เกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบมีเวลาเพียงพอในการปรับแผนการผลิต และเพื่อให้มีรายได้ทดแทนจากการจำหน่ายใบยาสูบที่ลดลง
อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสุราว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสุราให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งสุราที่ผลิตในประเทศ และสุรานำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและตามหลักสากล
สำหรับด้านมาตรการภาษีเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และมลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนั้น กรมสรรพสามิตได้นำปัจจัยเรื่องการปล่อยมลพิษฝุ่น PM มาเป็นหลักการในการกำหนดอัตราภาษีควบคู่ไปกับหลักการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยปรับลดอัตราภาษีรถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) หากมีค่าฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร หรือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล ไม่น้อยกว่า 20% เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ (บี 20) เพื่อยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากมาตรฐาน ยูโร 4 (PM ไม่เกิน 0.025) ในปัจจุบัน เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) ให้เร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรการปรับลดอัตราภาษีรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electronic Powered Vehicle) ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากปัจจุบันอัตราภาษี 2% ให้ลดลงเหลืออัตรา 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 จนถึง 31 ธ.ค.65
นายพชร กล่าวด้วยว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ กรมฯ จะออกมาตรการเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีเบียร์และภาษีน้ำมัน หลังจากพบว่าการจัดเก็บภาษีสินค้าทั้ง 2 ประเภทในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก โดยภาษีเบียร์ แม้จะเก็บได้ 36,753 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 27% ซึ่งเป้าการจัดเก็บภาษีทั้งปีอยู่ที่ 9.65 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ที่จัดเก็บได้ 97,044 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท หรือ 12.5% โดยเป้าหมายทั้งปีต้องจัดเก็บให้ได้ 2.34 แสนล้านบาท
สำหรับมาตรการที่จะตรวจเข้มในการจัดเก็บภาษีเบียร์นั้น จะแก้ไขระเบียบเรื่องการผลิตเบียร์เพื่อการส่งออก จากเดิมจะมีการตรวจปล่อยสินค้าจากโรงงานเท่านั้น แต่ระเบียบใหม่นอกจากตรวจปล่อยสินค้าจากหน้าโรงงานแล้ว จะให้มีการตรวจสินค้าอีกครั้งก่อนนำออกนอกประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำสินค้าออกนอกประเทศจริง ไม่ได้นำกลับเข้ามาขายในประเทศ เพราะเบียร์ที่ส่งออกไปขายนอกประเทศ จะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการผลิตเบียร์เพื่อการส่งออก 13% ของการผลิตทั้งหมด
"กรมสรรพสามิต จะตรวจสอบการผลิตเบียร์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผู้ผลิตจะต้องรายงานให้เราเห็นภาพรวมการผลิต ทั้งจำนวนปริมาณการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ กากของเสีย รวมถึงน้ำเบียร์ที่ผลิตได้ เพื่อไปเทียบกับเบียร์ที่ผู้ประกอบการนำออกมาขาย ว่าตรงกันหรือไม่" อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุ
ส่วนมาตรการตรวจเข้มในการจัดเก็บภาษีน้ำมันนั้น กรมสรรพสามิตได้หารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน 7 แห่ง และคลังน้ำมันอีก 40 แห่ง โดยจะมีการตรวจน้ำมันดิบที่นำเข้ามาโรงกลั่น น้ำมันที่ผลิตได้ รวมถึงการควบคุมการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันออกไปขายนอกประเทศว่ามีการนำออกไปขายจริงหรือไม่ เพราะน้ำมันดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังต้องตรวจเข้มกลุ่มน้ำมันเขียวที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง โดยไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ว่ามีการจำหน่ายและช่วยเหลือชาวประมงจริงหรือไม่ ไม่ได้นำกลับมาจำหน่ายบนฝั่ง ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่กรมสรรพสามิตต้องเร่งเข้าไปแก้ไข
นอกจากนี้ กรมฯ จะทบทวนอัตราภาษียาเส้นใหม่ โดยจะให้มีอัตราที่สูงกว่าเดิม เนื่องจากพบว่าปัจจุบันคนไทยหันมาบริโภคยาเส้นแทนบุหรี่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษียาเส้นในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บได้สูงขึ้นถึง 200% ส่วนหนึ่งมาจากอัตราภาษียาเส้นต่ำมากเพียง 0.005 บาท/กรัม ต่ำกว่าภาษีบุหรี่ที่มีการเก็บภาษีทั้งตามมูลค่า ที่ 20-40% และตามปริมาณที่ 1.2 บาท/มวน ทำให้ราคาบุหรี่ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง โดยระหว่างนี้จะมีการหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไร
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61 - มี.ค.62) พบว่ามีการกระทำผิด 17,217 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 264 ล้านบาท แยกเป็น คดีสุรา 10,054 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 93 ล้านบาท คดียาสูบ 4,701 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 101 ล้านบาท คดีไพ่ 477 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 4 ล้านบาท คดีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 766 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 27 ล้านบาท
คดีน้ำหอม 60 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 1.32 ล้านบาท คดีรถจักรยานยนต์ 875 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 17 ล้านบาท และสินค้าอื่น ๆ จำนวน 284 คดี รวมเป็นเงินค่าปรับ 18 ล้านบาท โดยมีของกลางแยกเป็นน้ำสุรา จำนวน 187,272 ลิตร, ยาสูบ 242,127 ซอง, ไพ่ 19,835 สำรับ, น้ำหอม 25,509 ขวด น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 580,365 ลิตร และรถจักรยานยนต์ 865 คัน