นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ "เศรษฐกิจประเทศไทยกับกระแสเศรษฐกิจโลก"ว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปีนี้ไม่ได้ถดถอย แต่อัตราการเติบโตช้าลงไปทั้งหมด โดยจีนพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกให้มากขึ้น ด้วยโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ และการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเกิดปัญหาความขัดแย้งของสหรัฐที่เป็นผู้นำเดิม นำไปสู่สงครามเหมือนในประวัติศาสตร์ แต่ครั้งนี้จะไม่นำไปสู่สงครามทางทหาร
ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้ายังไม่ได้ข้อยุติลงไปง่ายๆ และจีนอาจมีปัญหาเรื่องหนี้สะสมที่ขยายตัวปีละ 8% หากถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้า แต่ในระยะยาวประเทศต่างๆ จะได้รับผลประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า เช่น การย้ายฐานการผลิตจากจีน เพื่อลดผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยมีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามมากสุด ขณะที่ไทยยังไม่มีความพร้อมเรื่องบุคลากร
ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้งยังไม่มีความชัดเจนสะท้อนถึงทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศ โดยอยู่ระหว่างการจับกลุ่มจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งดูแล้วคะแนนเสียงยังใกล้เคียงกันที่จะมีผลต่อการทำงานทางการเมืองในรัฐสภา ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบาย และเป็นที่คาดเดากันว่าอาจมีการเลือกตั้งใหม่ตามมา โดยจะมีการอัดงบประมาณจำนวนมากเพื่อเอาใจรากหญ้า
ส่วนสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่ามาจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากเป็นเวลานาน มีรายได้จากการท่องเที่ยว สิ่งที่ทำได้คือการสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในกลุ่ม CLMV เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และการที่ไทยไม่ได้เป็นศูนย์กลางของสงครามการค้าทำให้มีความได้เปรียบที่จะดึงดูดการลงทุน
"ขอให้ผู้ประกอบการจับตาดูสถานการณ์สงครามการค้า เพื่อกำหนดทิศทางธุรกิจของตนเองให้เหมาะสม"
ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เตรียมมาตรการป้องกันเพื่อรองรับความผันผวนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนคือ โครงการบริหารความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่เปิดให้เอกชนมาเลือกใช้บริการ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว
"ไม่ว่าสงครามการค้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความผันผวน" นายทิตนันทิ์ กล่าว
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาในต่างประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากมาย นับตั้งแต่นโยบายของ American First ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของสหรัฐกับประเทศต่างๆ และการเลือกตั้งในปีหน้า ขณะที่สหภาพยุโรปประสบปัญหาซับซ้อนทั้งการเมืองในอิตาลี การชุมนุมประท้วงในฝรั่งเศส ปัญหา Brexit ของสหราชอาณาจักร
ขณะที่ปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศปีนี้ให้ขยายตัวในระดับ 4.1% ตามที่คาดการณ์ไว้ต้องมาจากปัจจัยเรื่องการลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศเกิดความเปราะบาง และเป็นเกราะป้องกันผลกระทบที่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจัยหนุนจากการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMVT เฉลี่ยอยู่ที่ 6% โดยเฉพาะเวียดนามที่มีขนาด GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากเดิมอยู่ที่ระดับ 1 ใน 3 ของไทยมาอยู่ที่ระดับ 50% ของไทยแล้ว แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 4% ซึ่งถือว่ามีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในกลุ่ม เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การลงทุนในประเทศเวียดนามและเมียนมาเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องจับตามอง เพราะเชื่อว่ามีภูมิคุ้มกันที่จะไม่ถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐและญี่ปุ่น
"ภูมิภาคนี้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึง 6% แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงโตได้แค่ 4%" นายวิกรม กล่าว
นายวิกรม กล่าวว่า ประเทศไทยควรเอาภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่ดีมาเป็นจุดดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อย่าไปรอให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเอง
"พื้นที่ EEC จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่จะเป็นฮับการบิน, ฮับโลจิสติกส์, ฮับยานยนต์, ฮับปิโตรเคมี, ฮับอุตสาหกรรมการแพทย์, ฮับอาหาร, ฮับท่องเที่ยว, ฮับอากาศยาน เป็นต้น และไทยเป็นประเทศแรกในเอเซียที่มีสถานทูตสหรัฐใหญ่ที่สุด ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีนโยบายที่จะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเหมือนสิงคโปร์ให้ได้"